Growth Strategy

7 กลยุทธ์ธุรกิจฝ่าวิกฤติ COVID19

W. JAMES

ดับบลิวเจมส์ Growth Master Certified โดย Growthhackers.com คนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท W JAMES เคยเป็นวิทยากรให้กับ SCG, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, Sharing Citizen, Getlinks และ Thailand Startup Week

7 กลยุทธ์ธุรกิจฝ่าวิกฤติ COVID19

2020 เป็นปีที่เรียกได้ว่าหนักและท้าทายสำหรับคนที่ทำธุรกิจที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ (นี่เพิ่งผ่านมา 3 เดือนจริงหรอ) และการจะผ่านวิกฤติ COVID19 ที่เรากำลังเจออยู่นี้ไปได้ จำเป็นต้องอาศัยสติ วิธีคิด กลยุทธ์ และการลงมือทำอย่างรัดกุม ผมหวังว่าในบทความนี้คุณจะได้แนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตินี้ไปด้วยกันครับ

Mindset อย่างไรให้พ้นวิกฤติ

วิธีคิดคือหนึ่งในสิ่งที่แยกระหว่างคนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ไม่ หรือคนที่ผ่านวิกฤติไปได้กับคนที่ไม่ผ่านเช่นเดียวกัน ซึ่งเวลาเรามองวิธีคิดที่ดีนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการคิดแบบ Inside out หรือการเริ่มต้นจากภายในสู่ภายนอก

เช่น ถ้ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับเรา เราจะมองในสิ่งที่ควบคุมได้ก่อนเสมอ นั่นคือตัวเรา โดยไม่โทษองค์ประกอบภายนอก และปรับแก้ไขสิ่งที่เกิดให้ดีขึ้นจากตัวเราเอง

ในทางเดียวกัน เมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น เราจะไม่เสียเวลามานั่งโทษสถานการณ์ต่างๆที่แย่และควบคุมไม่ได้ แต่จะเริ่มปรับจากตัวเราว่า มีสิ่งใดบ้างที่เราสามารถทำให้สถานการณ์ที่กำลังเจออยู่นั้นดีขึ้นได้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี

แต่การจะคิดแบบนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องมองข้ามอัตตาหรืออีโก้ในความเป็นตัวเราออกไปมาก มองภาพที่ใหญ่กว่าตัวเราเองเสมอ ถึงจะมองออกว่ามันยังมีอีกหลายทางที่สามารถทำได้ และอดทนสู้ไม่ยอมแพ้ ไม่ล้มเลิกไป

มันไม่ง่ายและต้องใช้แรงใจกับความอดทนสูง

ถ้าวันนี้ยังคงรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจกับสถานการณ์ที่เจออยู่ ผมแนะนำให้ลองไปดูหนังเรื่อง Joy

ภาพจาก Major

เป็นหนึ่งในหนังที่เวลาเจอเรื่องยากๆในการทำธุรกิจสำหรับผม จะชอบเปิดดูเพื่อให้กำลังใจกับตัวเองและฮึดสู้กับสิ่งที่เจอในวันนี้ เพราะจริงๆแล้วมันอาจเป็นแค่บททดสอบหนึ่งที่ต้องผ่านไปให้ได้ เพื่อไปสู่จุดที่ดีกว่า

7 กลยุทธ์ธุรกิจฝ่าวิกฤติ COVID19

1.ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด

เมื่อไรที่เรามีวิกฤติเกิดขึ้นนั่นแปลว่า ความคิดและการกระทำชุดเดิมของเราอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป จำเป็นต้องหนีออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ธุรกิจเดิมที่พึ่งพาออฟไลน์ต้องมาออนไลน์แบบเต็มตัว หรือธุรกิจที่ออนไลน์อยู่แล้วอาจต้องออนไลน์มากกว่าเดิมด้วยการทำงานกับคนที่เชี่ยวชาญในต่างประเทศเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้น

โดยสิ่งที่เราต้องเริ่มประเมินเพื่อให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้

  • ธุรกิจของเราสามารถส่งตรงสินค้าถึงบ้านได้ไหม? ถ้าทำได้แต่ยังไม่ทำ ให้เริ่มทำทันที
  • ธุรกิจมีช่องทางการขายออนไลน์ที่ดีพอแล้วหรือยัง? ลองเปรียบเทียบว่า ยอดขายออนไลน์เป็นกี่ % ของทั้งหมด
  • ธุรกิจวัดผลการทำงานบนออนไลน์ได้ครบถ้วนทุกกระบวนการแล้วหรือยัง? ถ้ายัง จำเป็นต้องหาทีมผู้เชี่ยวชาญ
  • คุณมีทีมที่เชี่ยวชาญดูแลเพื่อให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนได้เร็ว ทุ่มเทเพื่อให้พ้นวิกฤตินี้แล้วหรือยัง?
  • คุณยอมเสียสละอะไรบ้างเพื่อให้ธุรกิจพัฒนาสู่ออนไลน์และรอดจากวิกฤตินี้?

สิ่งสำคัญสำหรับข้อที่ 1 คือ โครงสร้างของบริษัทต้องทำงานบนออนไลน์ได้ (อาจไม่ 100% แต่ควรทำงานได้)

นี่คือตัวช่วยในการทดลองนำไปใช้เพื่อให้ธรุกิจอยู่บนโครงสร้างออนไลน์มากขึ้น

  • ปรับหรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีการจ่ายบนออนไลน์ หรือดีที่สุดคือจ่ายแบบ Subscription (เป็นสมาชิก จ่ายต่อเนื่อง รายเดือนหรือรายปี)
  • พัฒนาให้ทีมขายทำงานบนออนไลน์ 100% ปิดยอดให้ได้ และระบบอื่นๆจะเริ่มเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น เพราะลูกค้าอยู่บนออนไลน์แล้ว
  • สร้างธุรกิจใหม่และขยายทีมเล็กๆออกมาเพื่อทดลอง โดยธุรกิจนี้ต้องสามารถทำเงินได้ทันที (ทางเลือกนี้ดีที่สุด หากไม่ต้องการให้กระทบภาพลักษณ์ธุรกิจหลัก)

โฟกัสที่การอยู่รอดมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดทุนระยะสั้น ด้วยการลงทุนกับคนและเทคโนโลยีที่จำเป็น

2.Partnership รวมกันเราอยู่ แยกอยู่เราตาย

คู่ค้าทางธุรกิจจะช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ๆที่เราคาดไม่ถึง การรวมตัวทางการค้าเพื่อให้รอดพ้นวิกฤติจะเกิดขึ้นได้ เราอาจต้องเป็นคนเริ่มต้นเข้าหากับคู่ค้า เพื่อยื่นข้อเสนอหรือโยนไอเดียหาโอกาสใหม่ๆร่วมกัน คุณสามารถเริ่มต้นได้ดังนี้

  • เขียนโพสเรื่องการทำ Partnership บน Facebook ส่วนตัว (หากมีคู่ค้าเป็นเพื่อนอยู่จำนวนหนึ่ง)
  • เขียนอีเมลด้วยตนเอง เกี่ยวกับการร่วมมือกันครั้งนี้ และนัดพูดคุยกันผ่าน Video Conference
  • สร้างแคมเปญ เปิดรับสมัครคู่ค้าทางธุรกิจผ่านหน้าเว็บไซต์หรือเพจ Facebook ของบริษัท

การทำ Partnership ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น แต่ละบริษัทก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน สำหรับบริษัทผมเอง จะเน้นแนวทางการร่วมมือกันดังนี้

  • ให้มากกว่ารับ เมื่อไรที่มีการร่วมมือกันทางธุรกิจ ฝั่้งของเราจะเน้นการให้มากกว่ารับ เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการทำธุรกิจร่วมกันในระยะยาว มองไกลมากกว่าใกล้
  • เน้นในสิ่งที่ทำได้ทันที ไม่ต้องใหญ่มาก เริ่มได้เลยด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ก่อนแล้ว และเป็นส่วนที่สามารถยอมขาดทุนได้หากออกมาไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจไว้
  • โปร่งใส มีการตกลงกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร และแชร์ข้อมูลที่ได้รับมาร่วมกัน สามารถเห็นได้ตลอดเวลาด้วยระบบที่ทำงานบน Cloud

โฟกัสที่การลดต้นทุนในการหาลูกค้า  หรือหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

3.เทขายสินค้าในสต็อก เก็บเงินสด

การรักษาสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดให้ได้ จะช่วยให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ พูดง่ายแต่ทำได้ยากมาก เพราะเรากำลังเข้าสู่สภาวะเงินฝืด การซื้อขายที่ต่ำลงกว่าเดิมมาก ผู้คนจับจ่ายแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มีเงินเหลือมากพอสำหรับสถานการณ์แบบนี้ และเริ่มต้นซื้อสิ่งต่างๆในราคาที่พวกเขาสามารถต่อรองได้อย่างเต็มที่

ในมุมของธุรกิจเอง หากเป็นธุรกิจประเภทที่มีสต็อกสินค้าเยอะ วิธีนี้อาจช่วยคุณได้

  • สร้างช่องทางการขายออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ที่มีระบบตระกร้า หรือช่องทางการขายผ่านแชทที่ทำงานโดยใช้คนน้อยที่สุด (ต้องใช้ Software มาช่วย)
  • นำสินค้าลดราคา (ลดให้ดึงดูดลูกค้ามากพอที่จะเกิดการซื้อจำนวนมาก) ผ่านช่องทางออนไลน์ และเก็บข้อมูลลูกค้าที่ซื้อสินค้าลดราคาเหล่านั้นไว้ ในขั้นนี้ต้องแน่ใจว่าลดและยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่มากพอให้อยู่รอดได้ไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือน
  • นำสินค้าใหม่มาลดราคาต่อ แต่ครั้งนี้ขายให้กับลูกค้าที่เคยซื้อกับเราแล้ว โดยผ่านช่องทาง เช่น อีเมล หรือไลน์
  • ออกแคมเปญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถซื้อได้เฉพาะช่วงนี้เท่านั้น

โฟกัสหลัก คือ การทำให้สายป่านธุรกิจยาวขึ้นและมีข้อมูลของลูกค้าในมือเพื่อใช้ในการขายซ้ำ

4.กู้เพื่อลงทุนในส่วนออนไลน์

หากธุรกิจของคุณนั้นกู้อยู่แล้ว ให้ทำการขอผ่อนผันหรือคุยกับธนาคารเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆในการยืดเวลาการชำระออกไปให้ได้นานที่สุด และถ้าธุรกิจของคุณยังสามารถกู้ได้ นี่คือช่วงที่ดีที่สามารถขอกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ (ถ้าผ่าน)

แต่การกู้ครั้งนี้ อยากให้รัดกุมในการใช้ จำเป็นต้องมีแผนการตลาดอย่างละเอียดเพื่อใช้ในการทำงาน

  • 5 ล้มเหลว แผนนี้จะช่วยคุณได้มาก โดยการนำแผนที่ดีที่สุดเป็นจุดตั้งต้น และนำมาแตกต่อว่าหากแผนที่ดีที่สุดของคุณล้มเหลว ขั้นต่อไปจะใช้แผนไหนต่อ โดยทำทั้งหมด 5 ครั้งด้วยกัน ก็จะเป็นเหมือนป้อมปราการป้องกันในระดับหนึ่ง
  • ในภาพที่ทุกอย่างพัง มันก็จะพังทั้งหมด อย่าคิดว่าเรามีเงินแล้วอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เงินที่ได้มานั้นต้องเอามาใช้สำหรับการทำให้บริษัทตัดรายจ่ายได้มากขึ้น หรือในทางเดียวกันสร้างผลลัพธ์ที่มากขึ้น การจ้างคนเก่งด้วยสัญญาระยะสั้นเข้ามาช่วย อาจทำให้ธุรกิจมีทางออกใหม่ๆ เพิ่มรายได้และลดต้นทุน
  • อย่ากู้เพื่อมาทำสิ่งเดิมๆให้นานขึ้น เพราะมันจะไม่เวิร์ค คุณอาจจำเป็นต้องตัดอะไรที่ไม่จำเป็นทิ้ง และเริ่มสร้างสิ่งใหม่เล็กๆที่ช่วยเอาตัวรอดได้

ทุกวิกฤติมีโอกาส และคนที่มองเห็น ส่วนใหญ่แล้วคือคนที่อยู่กับปัญหานั้นๆนานที่สุด ถ้าคุณกู้ได้ นี่คือเงินที่ควรนำมาใช้กับโอกาสในตอนนี้ แต่ถ้ายังไม่เห็นโอกาส ก็อย่าเอาไปต่อสายป่านให้กับสิ่งที่ไม่ช่วยให้รอดพ้นวิกฤตินี้ไปได้

5.วัด Productivity ผ่านระบบ

ถ้าบริษัทสามารถให้พนักงาน Work from home ได้ ควรเริ่มทำด้วยเหตุผล...

  • ความปลอดภัยของพนักงานทุกคนในบริษัท
  • คุณจะเห็นสิ่งที่ไม่จำเป็นผ่านการทำงาน Work from home เพราะต้องนั่งคิดกระบวนการทำงานร่วมกันใหม่
  • วัดผลผ่านเนื้องานจริง ชัดเจนว่าใครที่สร้างการเติบโตให้บริษัท หรือแค่มาเข้าบริษัทไปวันๆ
  • โอกาสในการพูดคุยกับทีมมากขึ้น สำหรับผู้บริหารหรือหัวหน้าทีม

อยากให้มองการทำงานแบบ Work from home เป็นการเริ่มต้นสร้างระบบวัดผลผ่านเนื้องานมากขึ้น และเปิดโอกาสในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การสร้างสรรค์ และการเติบโต

โดยบริษัทของผมใช้เครื่องมือและวิธีการทำงาน WFH ดังนี้ครับ

  • Facebook Workplace สำหรับการ Standup Meeting ทุกเช้าตอน 9 โมง ผ่านวีดีโอ และการรายงานผลลัพธ์การทำงานแต่ละวันตอน 6 โมงเย็น
  • Clickup สำหรับการจัดการงานต่างๆทั้งหมดในบริษัท
  • Google Drive สำหรับการโยนไฟล์งาน จัดเก็บ และแชร์ให้ลูกค้า
  • Google Data Studio สำหรับดูยอดต่างๆของบริษัท

ซึ่งปกติการทำงานของเราจะทำโดยใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว แค่ไม่ได้ทำงานที่บ้าน จึงมีการปรับตัวไม่เยอะมาก

ในขั้นตอนนี้สิ่งที่โฟกัส คือ การทำงานร่วมกันกับทีมที่สามารถทำที่ไหนและเมื่อไรก็ได้(เน้นการสื่อสาร) โดยยังทำให้ธุรกิจนั้นเติบโต ต้องอาศัยใจของผู้บริหารในการรับความเสี่ยงนี้ เชื่อใจพนักงานของคุณ

6.Data-informed ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

เพราะช่วงวิกฤติแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีข้อมูลไหนสามารถบอกได้ชัดเจนว่า ควรทำอย่างไรต่อไป ต้องประกอบกับสัญชาตญาณของคนที่มีอำนาจตัดสินใจในบริษัทในส่วนต่างๆด้วย ว่าจะไปในทิศทางไหน

โดยจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูล แบ่งออกเป็น

  • ข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจการทำงานรายวัน, รายสัปดาห์และรายเดือน ซึ่งแต่ละบริษัทจะใช้ชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน
  • ข้อมูลสำหรับแคมเปญของคู่แข่งหรือธุรกิจใกล้เคียง ว่าเค้าใช้กลยุทธ์ไหนในการหาลูกค้าในช่วงนี้ และเราจะเพิ่มไอเดียให้ดีกว่าได้อย่างไร
  • ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในช่วงนี้เปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจสำหรับผลิตภัณฑ์ที่กำลังพัฒนา หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาโกยรายรับระยะสั้น

โฟกัสหลักคือการใกล้ชิดกับชุดข้อมูลสำคัญมากที่สุด เพื่อปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆได้เร็วและต่อเนื่อง อันไหนดีทำต่อ อันไหนพังให้หยุด การดูอย่างใกล้ชิดของผู้มีอำนาจตัดสินใจจะมีส่วนช่วยให้การทำงานต่างๆง่ายขึ้นมาก

7.ปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง

จริงๆวิธีนี้อยากให้เป็นทางเลือกสุดท้าย หรือไม่ใช้เลย เพราะมันเป็นการแก้ปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้คนในองค์กร เป็นวิธีที่ง่ายและไม่รับผิดชอบต่อชีวิตคนที่เราได้เลือกเข้ามาเพื่อช่วยสร้างบริษัทให้เติบโต

ถ้าจำเป็นต้องทำ อยากให้คนที่เป็นผู้นำเป็นคนคุยกับคนที่ต้องการให้ออกให้มากที่สุด เพื่อจะได้เป็นบทเรียนสู่การทำบริษัทในอนาคตที่เราจะไม่นำคนเข้ามามากเกินความจำเป็นในตอนที่ธุรกิจกำลังไปได้ดี

สรุปทั้งหมด

วิกฤติคือบททดสอบอย่างดีว่าที่ผ่านมาเราได้ทำธุรกิจอย่างรัดกุมมากน้อยขนาดไหน และเราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับใด ไม่มีกลยุทธ์ไหนถูกหรือผิด แค่ต้องนำไปทดลองใช้และให้ผลลัพธ์เป็นตัวชี้ว่าควรทำต่อไปหรือไม่

ผมขอเอาใจช่วยผู้ประกอบการทุกคน ให้ฝ่าวิกฤติ COVID19 นี้ไปด้วยกัน

และสำหรับใครที่ต้องการเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา ติดต่อได้ที่นี่เลยครับ

Happy Hacking

:)