COMPANY CULTURE

Zombie Culture VS Growth Culture แตกต่างกันอย่างไร โปรดอ่านก่อนสัมภาษณ์งานกับเรา

Tanachote Songsakulkait (Pea)

Head of Content At W JAMES VENTURES : A man with a passion for content marketing, growth marketing, and Liverpool football club

Zombie Culture VS Growth Culture แตกต่างกันอย่างไร โปรดอ่านก่อนสัมภาษณ์งานกับเรา

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในบริษัทให้แข็งแกร่ง ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่หลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัปต้องหันมาโฟกัสกับส่วนนี้ให้มากขึ้น ซึ่ง การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ของแต่ละบริษัทก็จะมีสิ่งที่แตกต่างกันออกไปมากมายขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ ในแง่ของการสร้างทีมตั้งแต่ Day1 รวมถึง Mindset ในการทำงานของพนักงานแต่ละคน ที่จะเป็นส่วนกำหนดทิศทางของวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้น ๆ 

โดยสำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Growth Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการเติบโตของธุรกิจ นั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัย Growth Mindset ของทีมแต่ละคนที่จะเข้ามาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบ Growth Culture 

แต่ปัญหาที่เราเจอมาบ่อยที่สุด ก็คือการที่ทีมแต่ละคนจะคุ้นชินกับรูปแบบการทำงานในบริษัทเก่าที่เคยทำงานมา ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Zombie Culture หรือวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าที่ไม่ได้สนภาพรวมของทีม การเติบโตขององค์กร และค่อย ๆ ปลูกฝัง Fixed Mindset ในการทำงานของพนักงานแต่ละคน

ในบทความนี้เราเลยขอมาอธิบายว่าจริง ๆ แล้ว Zombie Culture VS Growth Culture แตกต่างกันอย่างไร และสำหรับใครที่กำลังต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของทีม W James Ventures เราอยากให้คุณอ่านบทความนี้ให้จบก่อน เพื่อดูว่าคุณมี Mindset ที่ตรงกับที่เราตามหาหรือไม่

มาดูกันก่อนว่า Zombie Culture คืออะไร ? 

Zombie Culture ในความหมายของเราคือ วัฒนธรรมองค์กรรูปแบบเก่า ที่มีวิธีการทำงานเบื้องหลังที่เป็นแบบ Silo Working ที่จะแบ่งแยกการทำงานของพนักงานออกตามแผนกต่าง ๆ โดยแต่ละแผนกจะไม่มีการทำงานร่วมกันเลย ต่างคนต่างทำ เมื่อเสร็จแล้วถึงจะส่งงานไปให้แผนกที่เกี่ยวข้องต่อ ซึ่งรูปแบบการทำงาน Silo Working นั้นมักจะทำให้เกิดอุปสรรคในเรื่องของ การทำงานร่วมกันเป็นทีม และในเรื่องของการสื่อสารระหว่างทีม เมื่อเกิดข้อผิดพลาดงานก็จะล่าช้า ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมการทำงานของทีมลดลง 

รวมถึงทำให้พนักงานแต่ละคนถูกปลูกฝังรูปแบบการทำงานแบบ Silo Working กล่าวคือพนักงานคนนั้น จะไม่ทำอะไรที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ตนเองรู้ หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาในแต่ละวันของตำแหน่งงานตัวเอง ไม่ได้ต้องการเรียนรู้ทักษะอะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และจะมองภาพแค่สิ่งที่ตัวเองต้องทำในแต่ละวันเท่านั้น ไม่ได้มองภาพรวมการเติบโตหรือเป้าหมายขององค์กรแต่อย่างใด 

โดยเราจะพบเจอกับวัฒนธรรมองค์กรแบบ Zombie Culture ได้ในบริษัทที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ (หรือแม้แต่สตาร์ทอัปบางที่) ที่มีแผนกต่าง ๆ อยู่เยอะ มีการแบ่งตำแหน่งงานและหน้าที่ของแต่ละแผนกอย่างชัดเจน ไม่ทำงานล้ำเส้นกัน และออกแบบการทำงานให้เป็นโครงสร้าง (Organization Structure) ของแต่ละตำแหน่ง ไม่มีการเริ่มนวัตกรรมหรืออะไรใหม่ ๆ ในองค์กรมากเท่าที่ควร  

ซึ่งวัฒนธรรมแบบ Zombie Culture นี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะเข้าไปกัดกิน Growth Mindset และทำให้เมื่อเวลาที่พนักงานคนนั้น เข้ามาทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็น Growth Culture ที่มีการทำงานที่แตกต่างกับองค์กรที่เป็น Zombie Culture อย่างสุดขั้วทั้งในเรื่องรูปแบบการทำงาน การสื่อสารระหว่างทีม การมองภาพเป้าหมายขององค์กร วัฒนธรรมองค์กร และในปัจจัยต่าง ๆ ก็จะทำให้พนักงานคนนั้นปรับตัวกับสภาพการทำงานในแบบ Growth Culture ไม่ได้จนทำให้เกิดปัญหาการลาออกตามมานั่นเอง

3 Ways to Avoid the Zombie Workplace - Foundation for Economic Education
ภาพจาก fee.org

Growth Culture วัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการเติบโต คือวัฒนธรรมองค์กรที่ W James Ventures ยึดถือ

ตัดกลับมาที่วัฒนธรรมองค์กรที่ W James Ventures ใช้ในการทำงานอย่าง Growth Culture กันบ้างว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ ต้องทำอย่างไร มีจุดเด่นที่แตกต่างกับ Zombie Culture อย่างไร ?

โดย Growth Culture ในความหมายของเราคือ องค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานที่ทำให้ทีมทุกคน เห็นเป้าหมายขององค์กรเป็นภาพเดียวกัน ไม่มองแค่เป้าหมายที่เป็นรายบุคคล ทุกคนในทีมจะช่วยกันเพื่อทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย เน้นการสื่อสารกันระหว่างทีม ไม่ได้จำกัดหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เร็วที่สุด (หรือจะเรียกว่าเป็นการทำงานแบบ Agile Working ก็ได้เช่นกัน)

ซึ่งเราจะปลูกฝังให้ทีมทุกคนมองภาพของทีมเป็น “ทีมกีฬา” ชนะก็ชนะทั้งทีม แพ้ก็แพ้กันทั้งทีม ไม่มองภาพความสำเร็จเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนกีฬาฟุตบอล สมมติว่าเราเป็นนักฟุตบอล คงไม่มีใครหรอกที่มีความฝันว่าอยากจะเป็นแค่นักฟุตบอลเฉย ๆ หรือมีความฝันว่าอยากเป็นนักฟุตบอลทีมนี้ แต่ทุกคนที่เป็นนักฟุตบอลจะมีความฝันว่าอยากพาทีมคว้าแชมป์หรือประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด

เพราะฉะนั้นทีมทุกคนเมื่อลงไปแข่งก็ต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือพาทีมคว้าชัยชนะ ยิงประตูให้ได้ และก็ต้องช่วยให้ทีมไม่เสียประตูด้วย ซึ่งทีมแต่ละคนก็จะรู้หน้าที่ รู้ตำแหน่งของตัวเองว่า เมื่อลงสนามไปแล้วหน้าที่ของเราคืออะไร 

และเมื่อมันเป็นทีมกีฬา ทันทีที่เราทำผลงานได้ไม่ดี เราก็จะต้องยอมหลีกทางให้ทีมคนอื่น ๆ หรือผู้เล่นใหม่ ที่ทำผลงานได้ดีกว่ามาช่วยรับผิดชอบหน้าที่ของเราแทน แล้วโค้ชอาจจะโยกย้ายให้เราไปทำหน้าที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมกับความสามารถของเรา มันก็เลยเปรียบเหมือนองค์กร ที่จะต้องมีคนเก่ง ๆ คอย Support หมุนเวียนกันทำหน้าที่ต่าง ๆ กันอยู่เสมอ 

เลยทำให้องค์กรที่มี Growth Culture นั้นมีวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังเป็นผลดีต่อการทำงานอยู่ เนื่องจากทุกคนในทีมล้วนมี Growth Mindset ที่ไม่ปิดโอกาสในการเรียนรู้และการเติบโตของตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งจะแตกต่างจาก Zombie Culture ที่มีวิธีการทำงานที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองอะไรใหม่ ๆ การทำงานทุกอย่างวนลูปเป็น Routine จนสร้างวิธีการทำงานแบบนี้ เข้าไปฝังรากลึกในพนักงานแต่ละคน และพอพนักงานคนนั้นเข้ามาทำงานในบริษัทที่เป็น Growth Culture เราก็จะเริ่มเห็นถึงอะไรบางอย่าง ที่สะท้อนว่า คนคนนั้นทำงานร่วมกันกับทีมของเราไม่ได้ 

Learning And Development Strategies To Increase Employee Engagement
ภาพจาก elearningindustry

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าทีมคนไหน ที่มีการทำงานแบบ Zombie ติดตัวมาด้วย ?

หนักไม่เอา เบาไม่สู้ 

อย่างแรกที่สังเกตได้จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนที่มีรูปแบบการทำงานจาก Zombie Culture คือเขาเหล่านั้นจะเป็นคนที่ ‘หนักไม่เอา เบาไม่สู้’ หรือทันทีที่ตนเองมีหน้าที่หรือความรับผิดชอบจำนวนมาก ซึ่งบางทีอาจจะเกินขอบเขตของหน้าที่ที่เขาคิดไว้ ถ้าไม่ใช่งานที่เขาทำได้ หรือต้องการทำ คนกลุ่มนั้นจะเริ่มเกิดทัศนคติด้านลบ เริ่มทำงานได้ช้าลง ไม่ค่อยสื่อสารกับคนในทีม ไม่ค่อย Enjoy กับสภาพแวดล้อมภายในบริษัท จนงานที่ได้ออกมาไม่มีประสิทธิภาพ หรือต่ำกว่ามาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด หรือต่อให้เรามองเห็นตรงนี้และลดปริมาณงาน (Workload) ให้คนคนนั้นลง เขาก็จะยังไม่สามารถทำงานให้ออกมามีคุณภาพได้ เพราะเขาจะคิดว่างานที่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการทำและเขาไม่ต้องการเรียนรู้ทักษะอะไรใหม่ ๆ จะอยากทำแค่สิ่งที่เขาทำได้เท่านั้น ซึ่งเกิดจากการมี Fixed Mindset ที่ติดตัวมาจากที่ทำงานเก่า

ไม่ทำงานอื่น ที่นอกเหนือ Job Description 

ในการทำงานในองค์กรที่มี Growth Culture ทีมแต่ละคนอาจจะต้องมีบางครั้งที่เราจะต้องทำงานในหน้าที่ที่นอกเหนือจาก Job Description ที่ระบุไว้ตั้งแต่ตอนสมัครงาน เพราะด้วยการทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง และทุกคนต้องทำงานกันในทีมแบบ Cross Functional กันตลอดเวลา

แต่ถ้าใครที่มีรูปแบบการทำงานของ Zombie Culture ติดตัวมา จะสังเกตได้เลยว่าเขาจะรู้สึกไม่แฮปปี้กับงานอื่น ๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามา หรือทำงานชิ้นนั้นออกมาได้ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งจริงอยู่ว่าบาง Task อาจเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้ลองจับมาก่อนในการทำงาน แต่ถ้าเขาคนนั้นเป็นคนที่มี Growth Mindset ก็จะไม่ยึดติดกับหน้าที่ใน Job Description เหล่านั้น และจะเริ่มเรียนรู้ทักษะอะไรใหม่ ๆ ที่ตนเองยังไม่เคยลองทำ หรือทำไม่เป็นทันทีที่ได้รับมอบหมาย 

เลือกถามผู้อื่น มากกว่าเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว หากใครที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เคยทำมาก่อน หรือเป็นหน้าที่ที่ตนเองไม่มีความรู้ ในการสังเกตว่าใครที่มีลักษณะการทำงานแบบ Zombie Culture นั้น สังเกตได้ง่ายมาก คือทันทีที่เขาได้รับงานมา เขาจะเลือกถามผู้อื่นมากกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

จริงอยู่ว่าการถามความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์เป็นเรื่องปกติในการทำงาน แต่ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพและเข้าใจได้เร็วมากที่สุด ก็ควรต้องควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Proactive Learning) เสมอ แต่ใครที่มีการทำงานในรูปแบบ Zombie Culture เขาจะเลือกถามผู้ที่มีความรู้ หรือผู้ที่มีประสบการณ์อย่างเดียว โดยไม่เรียนรู้หรือค้นคว้าอะไรด้วยตัวเอง และเขาจะทำงานเฉพาะสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากการถ่ายทอดของคนอื่นเท่านั้น 

ซึ่งการเรียนรู้ด้วยวิธีแบบนี้ส่งผลเสียต่อการทำงานของทีมหลายอย่าง โดยสิ่งที่เห็นชัด ๆ คือการทำงานจะล่าช้าลง เพราะต้องอาศัยการถามผู้รู้เพียงอย่างเดียว รวมถึงเนื้องานที่ได้ จะไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ออกมาเป็นงานที่ทำตามคำสอนของอีกฝ่ายแต่เพียงอย่างเดียว

ไม่ชอบทำงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ 

อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่าการทำงานในรูปแบบของ Zombie Culture ส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในรูปแบบ Silo Working ที่จะทำงานกันเองแค่ภายในแผนก ไม่มีการสื่อสารกับทีมอื่น ๆ ซึ่งทำให้เนื้องานในแต่ละวันจะค่อนข้างมีความเป็นงาน Routine หรือทำงานวนลูป และแน่นอนว่าเมื่องานในแต่ละวันมีความเป็น Routine ก็จะทำให้งานที่ส่งมอบออกมาไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์ ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ เท่าที่ควร

พอเมื่อคนเหล่านั้นได้เข้ามาทำงานในองค์กรที่มีรูปแบบการทำงานที่เป็น Growth Culture ที่มีรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น มีการทำงานที่เน้น Scrum Working ที่ทีมทุกคนต้องช่วยกันพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์กันอยู่ตลอด จำเป็นที่จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะในการคิดสิ่งใหม่ ๆ คนที่มีการทำงานแบบ Zombie Culture ที่ว่าก็จะเริ่มมีปัญหาในการทำงานทันที หรือเวลาที่มีการ Brianstorm, Growth Sessions ไอเดียที่มาจากคนคนนั้น ก็จะเป็นไอเดียที่ซ้ำกับคนอื่น หรือเอาไปต่อยอดในการทำงานจริงไม่ได้ 

ปัญหาที่จะตามมา เมื่อคนในองค์กรของคุณมีการทำงานแบบ Zombie Culture

จากที่ได้สัมผัสการทำงานร่วมกับคนที่มีรูปแบบการทำงานแบบ Zombie Culture มา จะพบได้เลยว่าปัญหานอกจากคุณภาพของเนื้องานดรอปลง ทำให้ภาพรวมของการทำงานเกิดความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรจะเป็น อีกหนึ่งปัญหาที่จะตามมาคือการทำให้ วัฒนธรรมองค์กร ของทีมในปัจจุบันเริ่มสั่นคลอน

เพราะคนที่มีรูปแบบการทำงานที่ได้รับมาจาก Zombie Culture จะเริ่มพยายามถ่ายทอดวิธีการทำงานแบบผิด ๆ ไปให้กับทีมในทุก ๆ วัน (หรือเป็นการส่งต่อพลังลบของตัวเองไปสู่ทีม) ซึ่งถ้าหากว่าทีมคนนั้นเป็นทีมที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่ได้ซึมซับ Growth Mindset หรือวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทมากเพียงพอ ทีมที่เข้าใหม่ ๆ ก็จะเริ่มคล้อยตาม และโดนปลูกฝังชุดความคิดการทำงานแบบ Zombie Culture ไปในที่สุด ซึ่งไม่น่าจะใช่ผลดีต่อองค์กรแน่นอน ถ้ามีทีมที่มี Zombie Culture เป็น Mindset ในการทำงาน 

เพราะฉะนั้นแนะนำว่า หากคุณเริ่มพบแล้วว่าตอนนี้ใครในทีม ที่มีรูปแบบการทำงานแบบ Zombie Culture ต้องรีบ Feedback ให้เขาทราบทันทีหรือเร็วที่สุด (เป็นเรื่องที่ปล่อยผ่านไปไม่ได้) ถ้าคนที่ยังพอมี Growth Mindset บ้าง ทันทีที่เขาได้รับ Feedback มาเขาก็จะค่อย ๆ ปรับปรุงตัว แก้ไขและเรียนรู้จาก Feedback ที่ได้รับ แต่ถ้าเกิดทีมคนไหนที่เราให้ Feedback ไปแล้วแต่ยังไม่ปรับปรุงตัว ประกอบกับคุณภาพของงานที่ทำในแต่ละวันต่ำกว่ามาตรฐานลงเรื่อย ๆ ก็อาจจะต้องบอกลากันเลย เพราะถ้าปล่อยไว้นานวันเข้าจะเริ่มส่งผลเสียต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น Growth Culture อย่างแท้จริง

หากคุณคือคนที่ต้องการสัมผัสการทำงานแบบ Growth Culture ที่ W James Ventures เราต้องการคนแบบคุณร่วมทีมกับเรา!

ถ้าคุณคือคนที่มี Growth Mindset อย่างเต็มเปี่ยมและต้องการสัมผัสประสบการณ์การทำงานในองค์กร Growth Culture ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของทีมเหนือสิ่งอื่นใด รายล้อมด้วยทีมที่มีเคมีตรงกัน และช่วยกันทำงานเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายเดียวกัน ที่ W James Ventures เรารอการมาของทีมแบบคุณอยู่ ดูตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร แล้วส่ง Resume/CV พร้อมกรอกข้อมูลที่ระบุ เข้ามาหาเราได้เลย 

Source : linkedin , harvardbusinessreview , exploringyourmind