GROWTH MINDSET

Values Hacker วิธีคิดสำหรับคนอยากเติบโตเร็ว (หรือรวยเร็ว)

W. JAMES

ดับบลิวเจมส์ Growth Master Certified โดย Growthhackers.com คนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท W JAMES เคยเป็นวิทยากรให้กับ SCG, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, Sharing Citizen, Getlinks และ Thailand Startup Week

Values Hacker วิธีคิดสำหรับคนอยากเติบโตเร็ว (หรือรวยเร็ว)

ทฤษฎีนี้จะทำให้คุณเติบโตในหน้าที่การงาน ประสบความสำเร็จและรวยเร็วที่สุด...

ต้องขอบอกก่อนว่า ทฤษฎีที่ผมจะเล่าให้คุณฟังต่อจากนี้ คือ โมเดลที่ผมคิดขึ้นเอง เพื่อใช้ในการคุยกับลูกค้าและทีมในบริษัทตัวเอง ให้มีวิธีคิดไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเราเป็นบริษัทที่โฟกัสเรื่องการเติบโตโดยเฉพาะ จึงทำให้หลายๆครั้งวิธีคิดที่แตกต่างกันมากๆมักทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย บทความนี้จึงเป็นเหมือนตัวกลางที่ช่วยปรับจูนให้ตรงกันว่า สิ่งที่เราคิดว่าเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร?

เริ่มต้นด้วย คำนิยามให้ตรงกันก่อนนะครับ

รวย ≠ มีเงิน(ชั่วคราว)

คำว่า รวย ที่ผมหมายถึงในบทความนี้ จะไม่ได้นับรวมถึงการมีเงินมากมายแบบชั่วคราวนะครับ ตัวอย่างเช่น การถูกหวย ซื้อหุ้นตามเพื่อน(ที่บอกว่ามาจากวงใน) การทำธุรกิจแบบฉาบฉวย เพราะเงินที่ได้มาจากสิ่งเหล่านี้ จะได้มาครอบครองแค่เพียงแปปเดียวเท่านั้น มาแล้วก็ผ่านไป เหมือนจะดีแต่ส่งผลเสียในระยะยาวมาก เพราะมันจะทำร้ายระบบความคิดของเราว่า ให้โฟกัสแต่อะไรที่ได้มาง่ายๆ ไม่ต้องลงทุน ลงแรงอะไรเยอะ แต่อย่าลืมว่า คุณทำได้ ใครๆก็ทำได้ และสิ่งที่ใครๆก็ทำได้ ไม่เคยทำให้ใครรวย เพราะคนรวยมีจำนวนแค่ 1-5% ของคนบนโลกนี้

รวยหรือมั่งคั่ง (ประสบความสำเร็จ) ในมุมของผมคือ สถานะที่คุณสามารถใช้เงินได้โดยไม่ต้องนึกถึงมัน ตัวเลขในป้ายราคาไม่ได้มีผลอะไรต่อความคิดและพฤติกรรมใดๆของคุณอีกต่อไป มันเป็นสถานะที่ไม่ต้องกังวลด้วยว่า เงินที่มีจะหมดลงวันไหน

ปล.ถ้าคุณทำได้เอง รวยแล้ว และกำลังอ่านอยู่ ยินดีด้วยครับ! แต่ถ้าคุณรวยแล้ว เพราะเงินพ่อแม่ นั่นก็เท่ากับมีเงินแบบชั่วคราวอยู่ดี

ทฤษฎีคุณค่ามาก่อน (Values Hacker)

ผมเชื่อว่า ถ้าคุณทำความเข้าใจโมเดลนี้ก่อนจะสร้างธุรกิจของตัวเองจะช่วยประหยัดเงินและเวลาไปได้มากเลย แถมยังมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย โดยตัวทฤษฎีนี้เองจะเล่าผ่าน 3 ตัวแปรด้วยกัน นั่นคือ Expectation(ความคาดหวัง), Performance(ผลงาน) และ Value(คุณค่า) ครับ

ช่วงที่ 1: Expectation มากกว่า Performance มากกว่า Value

ผมขอเรียกช่วงนี้ว่า ช่วงความรู้ช่างน้อยนัก แต่ความโลภนั้นมากเหลือ

ช่วงที่ 1: Expectation มากกว่า Performance มากกว่า Value

นี่คือช่วงของคนส่วนใหญ่ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจอันแรกของตัวเอง (โดยสุดท้ายแล้วคนในกลุ่มนี้ 99% จะล้มเหลว) และกราฟนี้เอง คือ เหตุผลว่าทำไมทำธุรกิจแรก มักไม่ประสบความสำเร็จ

กราฟสีชมพู (Expectation)

จะแสดงถึง ความคาดหวังหรือพูดชัดๆ คือ ความโลภ สิ่งที่เราอยากได้ ภาพของความประสบความสำเร็จ นั้นเอง ในขั้นนี้ เรามักจะถูกความโลภครอบงำ ในหัวคิดแต่ว่า ถ้าเริ่มทำธุรกิจแล้วจะประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ มีวิธีในการขยายกิจการต่างๆนาๆ ไม่ได้มองและเตรียมการว่าถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เวิร์คจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ตัวผมเองก็ติดอยู่ในช่วงนี้เหมือนกันสำหรับธุรกิจที่ 1-3 ของผม และทั้งหมดต้องจบลงด้วยการปิดตัวลงไป

Expectation: มาก

กราฟสีน้ำเงิน (Performance)

จะแสดงถึง ความสามารถของเรา โดยจะคิดจากความสามารถโดยรวมทั้งหมดของเราในการบรรลุเป้าหมายตามสิ่งที่เราคาดหวัง เรียกได้ว่า สกิลน้อยมาก แทบยังทำอะไรไม่เป็นเลยในธุรกิจนั้น หรือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าธุรกิจที่เราทำอยู่ จริงๆแล้วมันต้องทำอย่างไร รวมถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ก็ยังไม่ถึงไหน ความอดทนในการทำงานหนักต่ำสุดๆ ตัวอย่างเช่น ทำงานไปเล่น Facebook ไป

Performance: ต่ำ

กราฟสีน้ำตาล (Value)

จะแสดงถึง คุณค่า มันคือ คุณค่าที่ส่งมอบให้กับผู้คน ถ้าเป็นในแง่ของธุรกิจ คือ คุณค่าของธุรกิจที่ส่งต่อไปให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและคู่ค้า สิ่งที่เราทำออกมา มีคุณค่าแค่ไหนในสายตาของคนอื่น (โดยส่วนใหญ่จะคิดว่า มีคุณค่าในสายตาตัวเองเป็นหลัก จึงทำให้พลาดไป) ในขั้นนี้ตัวเราจะไม่ได้สนใจเรื่องการสร้างคุณค่าเลย เพราะคิดแต่เรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก

Value: ต่ำมาก

ยกตัวอย่างคนที่อยู่ในช่วงนี้ เวลาเริ่มทำธุรกิจจะโฟกัสที่ความง่าย เห็นผลเร็ว โดยไม่ต้องลงทุนเวลาหรือใช้ความสามารถมาก เวลาดูว่าธุรกิจอยู่ในช่วงนี้ไหม ให้ดูว่าทำตามง่ายไหม ถ้าทำตามได้ง่าย อย่างเช่น สามารถเลียนแบบได้ในเวลาไม่เกิน 3 เดือน ธุรกิจนั้นจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว เพราะไม่ได้มีจุดขายหรือต้องผ่านการลงทุนเวลากว่าจะสร้างออกมาได้ เป็นอะไรที่ฉาบฉวย มันคือธุรกิจที่คาดหวังผลตอบแทนสูงจากการลงแรงหรือใช้ความสามารถต่ำ

จริงอยู่ครับว่า บางคนทำแบบนี้แล้วให้ผลดีมาก แต่ถ้าเรามองในระยะยาวจะเห็นว่า วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้ผล เพราะแทบไม่เหลืออะไรเลย เมื่อคนในช่วงนี้ผ่านพ้นจุดที่ไม่เหลืออะไรและเริ่มคิดได้ขึ้นมา จะเข้าสู่ช่วงที่สอง

ช่วงที่ 2: Expectation เท่ากับ Performance มากกว่า Value

ช่วงนี้คือ ช่วงของความจริงที่ไม่สวยหรู แต่ก็ต้องสู้ต่อไป

ในขั้นนี้เราจะเจอกับความจริงจากความล้มเหลวในช่วงแรกมาแล้ว และเริ่มคิดขึ้นได้ว่า จริงๆแล้วเราต้องมีความสามารถก่อนนินา จะโผล่มารวยเลยไม่ได้ (ก็เออดิ!) จึงเริ่มจมอยู่กับการค้นหาตัวเอง ถ้าเป็นบริษัทในช่วงนี้ก็จะนำเงินมาลงทุนในการทำผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แทนการนำเงินไปลงการตลาดหลอกล่อคนให้ซื้อสินค้าที่ยังพัฒนาออกมาสู้คู่แข่งไม่ได้

นี่คือช่วงชี้เป็นชี้ตายของคุณและธุรกิจเลยว่า จะพัฒนาไปในทางไหน ปรับรูปแบบอย่างไรให้เติบโตได้ในอนาคต สกิลอะไรบ้างที่ยังขาดอยู่ หลายคนติดอยู่ช่วงนี้ค้นหาทางออกไม่เจอและล้มเลิกไป ในช่วงนี้จะใช้เวลานานนนนนมากๆในการพัฒนาสิ่งต่างๆ

กราฟสีชมพู (Expectation)

ความคาดหวังของเราในขั้นนี้จะถูกปรับลดลงมาให้เท่ากับความเป็นจริงในสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ และเริ่มตระหนักได้ว่า เราควรตั้งเป้าหมาย คาดหวังในตัวเองระดับใดเพื่อให้สามารถทำได้จริง

Expectation: ปานกลาง

กราฟสีน้ำเงิน (Performance)

ในช่วงนี้เราจะเริ่มหันมาสนใจการพัฒนาความสามารถที่ต้องใช้ เพื่อให้สามารถไปต่อได้ บางคนล้มจากธุรกิจแรกหันไปสมัครงานในบริษัทแทน เพื่อฝึกสกิลที่ตัวเองยังขาดอยู่เลยทีเดียว นั้นหมายถึง ความสามารถพื้นฐานของเราจะเป็นตัวตัดสินอนาคตเช่นกัน ว่าเราจะไปได้ถึงขั้นไหน เพราะหากขาดซึ่งความสามารถแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากขวดเปล่าที่รอวันแตก เราจะกลับมาอยู่ในจุดที่พอดีกับความสามารถของเรา

Performance: ปานกลาง

กราฟสีน้ำตาล (Value)

คุณค่าจะเป็นตัวตัดสินว่า เราจะออกจากช่วงนี้ได้หรือไม่? แต่คนในช่วงนี้จะไปโฟกัสที่การพัฒนา Performance ก่อน เพราะความสามารถยังขาดอยู่ จึงทำให้ไม่ค่อยเห็นถึงการสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นเท่าที่ควร

Value: ต่ำ

เมื่อคนในช่วงนี้พัฒนาตัวเองมาถึงในระดับหนึ่ง จนเริ่มเห็นความสำคัญของคุณค่าขึ้นมา และเริ่มโฟกัสในการพัฒนาคุณค่า จะเข้าสู่ช่วงที่ 3 คือช่วงของคนที่ประสบความสำเร็จ

ช่วงที่ 3: Expectation น้อยกว่า Performance น้อยกว่า Value

ช่วง ยูเรก้า! รู้แล้วมันเป็นแบบนี้นี่เอง

การโฟกัสที่การสร้างคุณค่าไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย เพราะมันทั้งใช้เวลา ความสามารถ เงินทุน ทีมและความคิดสร้างสรรค์ เวลาเราโฟกัสที่คุณค่าก่อนเนี่ย เราจะมองในเรื่องของระยะยาวเป็นหลัก เพราะสิ่งที่มันมีคุณค่ากับผู้คนจริงๆต้องใช้เวลาทุ่มเท ไม่ฉาบฉวย หน่วยที่ใช้คือหลัก ปี โดยส่วนใหญ่จะมองอนาคตเป็นภาพตัวเลขหลัก 10 ปีขึ้นไป

กราฟสีชมพู (Expectation)

พอเรารู้ว่ามันยากเนี่ย เราจะเตรียมใจและกายเพื่อรับแรงกดดัน การทำงานหนัก และสถานการณ์ไม่คาดคิดเอาไว้ ทำให้ความคาดหวังของเราไม่ได้สูงมาก เห็นภาพความจริงชัดขึ้นว่า ถ้าคาดหวังสูง เราต้องทำงานหนักขึ้นแค่ไหนและต้องมีทรัพยากรอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

Expectation: ปานกลาง

กราฟสีน้ำเงิน (Performance)

ในช่วงนี้เราจะได้เรียนรู้ว่า ในทุกๆการเติบโตของบริษัทและตัวเราเอง ต้องการความสามารถที่ใช้แตกต่างกัน เช่น วันแรกที่เปิดบริษัทจะต้องการสกิลการทำงานที่ครอบคลุมทุกอย่าง แต่วันที่บริษัทโตแล้ว ต้องการสกิลการบริหารแทน นั่นหมายความว่า จะต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนตลอดเวลา การทำงานหนักคือส่วนประกอบสำคัญเพื่อสร้างความสามารถที่ต้องใช้

Performance: สูง

กราฟสีน้ำตาล (Value)

ให้ความสำคัญกับคุณค่าก่อนเสมอ คุณค่าของสิ่งที่ทำมันส่งผลอะไรต่อใครบ้าง เพราะถ้าเราเชื่อจริงๆว่าเราทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับผู้คน และผู้คนเหล่านั้นรับรู้ได้ถึงคุณค่าที่เราส่งต่อ เราจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่า มีความมั่งคั่ง และนั่นอาจหมายถึงชีวิตที่ใครหลายคนฝันถึง เพราะเงินอย่างเดียวไม่เคยใช่ปัจจัยให้คนมีความสุขขนาดนั้น

ดังนั้นคนในช่วงนี้จะคิดอย่างแรก คือ สิ่งที่ทำนั้นจะมีคุณค่ากับผู้คนมากน้อยขนาดไหน และกลุ่มคนนั้นมีจำนวนใหญ่แค่ไหน ยิ่งเราสร้างคุณค่าได้มาก แน่นอนว่าผลตอบแทนก็มากเช่นกัน แต่สิ่งที่ได้ที่สุด คือ คุณค่าทางใจที่ช่วยให้มีความสุขในทุกๆวันครับ

Value: สูงมาก

คุณค่าที่ควรโฟกัส…

คุณค่าคือสิ่งที่คนเราตีความหมายไม่เหมือนกัน บางคนให้คุณค่ากับ เวลามากกว่าเงิน หรือ บ้างก็ให้เงินสำคัญกว่าสุขภาพ มันคือสิ่งที่เราให้น้ำหนักไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าเราจะโฟกัสในการสร้างคุณค่าเนี่ย เราต้องดูก่อนว่า กำลังพูดถึงคนประเภทไหน?

กลุ่มเป้าหมาย

เราต้องกำหนดให้แคบมากๆว่า กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร ปัญหาเค้าคืออะไร สิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าคือเรื่องใดบ้าง และเราต้องไปคุยกับเขา (ไม่คิดเอาเอง) เพื่อจะได้รู้จริงๆว่าเค้าให้คุณค่าในแบบที่เราให้หรือไม่?

ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการขายสินค้าแฟชั่น ให้กับกลุ่มลูกค้าชั้นบน (ราคาสูง) เราเริ่มต้นด้วยการสร้างสิ่งที่เราคิดว่า สวยออกมา เป็นชุดที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายสีสันฉูดฉาด แต่เมื่อผ่านไปกลับขายไม่ได้อย่างที่คิด เพราะมันมีบางอย่างที่ผิดไปแน่ๆ จึงเริ่มออกไปคุยกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ปรากฎว่า กลุ่มลูกค้าชั้นบนนั้นให้คุณค่ากับเสื้อผ้าที่เรียบ มีเอกลักษณ์ และสีไม่ฉูดฉาดมากกว่า แถมยังมองว่าการแต่งตัวเป็นการแสดงถึงความเป็นตัวเอง จึงเลือกใส่เฉพาะแบรนด์ที่สื่อถึงความร่ำรวยของตัวเองเท่านั้น พอเรารู้แบบนี้ จึงทำให้เรากลับมาสร้างสิ่งที่มีคุณค่ากับพวกเขาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากการกลับไปทำตัวเองให้เป็นดีไซนเนอร์ที่มีชื่อเสียง พัฒนาการออกแบบ และจัดงานแสดงของตัวเอง ก่อนจะกลับไปขายสินค้าให้กับคนกลุ่มเดิม

จะเห็นได้ว่า การสร้างคุณค่านั้นเป็นเส้นทางที่ยาวมาก แต่ยั่งยืนและน่ายกย่อง

ตัวอย่างเพิ่มเติม

อะไรที่มีคนทำได้และรวยไปแล้ว มันจะไม่เกิดขึ้นอีก (จากหนังสือ zero to one) และเรากำลังอยู่ในยุค 4.0 มันหมายความว่าเราได้ผ่านยุคอุตสาหกรรมที่ผลิตอะไรก็ขายได้มาแล้ว ยุคนี้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน หาซื้อจากที่ไหนก็ได้ ในมุมธุรกิจมันยากกว่าแต่ก่อนมาก ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนคือมุมมองความคิด ว่าการทำอะไรเหมือนๆกัน มันไม่เวิร์คหรอก เราจะต้องสร้างคุณค่าที่เป็นของเราเองและส่งต่อให้กับกลุ่มคนที่ต้องการคุณค่าในสิ่งนั้นได้

AMAZON

เจ้าของ Amazon.com เจฟฟ์ เบโซส เขาเป็นคนที่เชื่อในเรื่องคุณค่าของ e-Commerce มากๆว่า ถ้าจะทำให้ธุรกิจเขามีคุณค่าจริงๆ สินค้าต้องราคาถูก ส่งเร็ว และน่าเชื่อถือ และนั่นคือสิ่งที่เขายึดมั่นในการทำธุรกิจมาตลอด ถึงแม้จะติดลบมากว่า 10 ปี แต่ตอนนี้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกไปแล้ว

APPLE

คิดอย่างแตกต่าง และความเป็นหัวขบถ สตีฟ จ็อบ เชื่อในคุณค่าของระบบนิเวศแบบปิด (ไม่ยินยอมให้นักพัฒนาเข้าไปตกแต่งหรือเสริมระบบของแอปเปิ้ล) เพราะจะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่า ทำให้แอปเปิ้ลกลายเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ได้

YOUR COMPANY

คุณเองก็สร้างได้ เริ่มต้นจากการบริหารความคาดหวังของตัวเอง พัฒนาทักษะต่างๆ และสร้างคุณค่าให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเจออยู่ได้ดีกว่าคู่แข่งในตลาด

ถ้าเราให้ความสำคัญกับคุณค่าก่อนแล้วเราจะรวยเร็วจริงหรอ?

มันอาจจะขัดกับสิ่งที่เห็นในโลกอินเตอร์เน็ตสักหน่อยที่ว่า ใครก็รวยได้ภายในไม่กี่วันหรือเดือน ถ้าคุณมองทะลุไปจริงๆ จะเห็นว่าพวกนั้น คือ เงินชั่วคราวทั้งนั้นอย่างที่ผมได้พูดไปตอนต้น คุณทำไปก็ต้องไปดิ้นรนหาทางรักษามันด้วยทางอื่นต่อที่ไม่ยั่งยืนและเสียเวลากว่ามาก

เส้นทางลัดที่สุดกลับเป็นเส้นทางที่โดนละเลยที่สุด

เพราะคนรวยนั้นเป็นแค่ส่วนน้อยเพียง 1-5% ของโลกนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าอยากเป็นคนรวยจริงๆ อยากจะขอให้โฟกัสที่การสร้างคุณค่าก่อน พัฒนาศักยภาพของตัวเองให้สามารถส่งมอบคุณค่านั้นได้ และบริหารความคาดหวังของตัวเองไม่ให้สูงเกินกว่าความสามารถที่มี แน่นอนว่าความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนครับ

ถ้าคุณอ่านจบมาถึงตรงนี้แล้ว สามารถเปลี่ยนวิธีคิดจากการมีเงินชั่วคราวกับความรวยที่สร้างจากคุณค่าได้ ก็ถือว่าผมทำสำเร็จแล้ว ลองนึกถึงสังคมที่นักธุรกิจสร้างแต่สิ่งที่มีคุณค่าสิครับ มันคงจะดีไม่น้อย ดีกว่าปัจจุบันที่มีแต่ธุรกิจก็อปกันไปมา รวยทางลัด(ที่ไม่มีอยู่จริง) หรือสตาร์ทอัพหลอกเงินนักลงทุน

ขอทิ้งท้ายไว้ว่า รวยเร็วทำได้ (หน่วย = ปี) รวยง่ายๆไม่มีอยู่จริง มันคือเงินชั่วคราวที่มาแล้วหมดไปเท่านั้น ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

Values Hacking!

🏆