GROWTH CULTURE

รีวิว Work From Home 2 ปี+ ที่เปลี่ยนให้ทีมมี Productivity มากกว่าเดิม

W. JAMES

ดับบลิวเจมส์ Growth Master Certified โดย Growthhackers.com คนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท W JAMES เคยเป็นวิทยากรให้กับ SCG, True Digital Park, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญและรังสิต, Sharing Citizen, Getlinks และ Thailand Startup Week

รีวิว Work From Home 2 ปี+ ที่เปลี่ยนให้ทีมมี Productivity มากกว่าเดิม

*บทความนี้เขียนร่วมกับ Head of Growth ของบริษัท คุณ Pea Tanachote

ขอย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นสร้างบริษัทนี้ขึ้นมาตอนปี 2017 ในตอนนั้นเองผมอินกับเรื่องของการทำงานแบบ Remote (ทำงานที่ไหนก็ได้) มาก เพราะเชื่อว่าจริงๆแล้วเราสามารถทำงานได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัททุกวันที่ดูแสนจะน่าเบื่ออย่างที่หลายๆคนพูดกัน

จึงเริ่มต้นทดลองด้วยการทำงานแบบเข้ามาเจอกันแค่ 3 วัน คือ อังคาร พุธ และพฤหัส ส่วนวันจันทร์กับศุกร์ในช่วงนั้นจะเป็นวันที่รถติดหนักมาก และการทำงานจากที่ไหนก็ได้ในวันจันทร์กับศุกร์จะช่วยให้ทีมรู้สึกผ่อนคลายด้วย เพราะเหมือนเป็นวันหยุดยาวในทุกๆอาทิตย์

แต่เมื่อใช้จริงไปอยู่หลายเดือน มันกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะผลลัพธ์จากการทำงานของทีมลดลงมาก เนื่องจากความสบายที่มากเกินไปเหมือนการหยุดยาว (ตอนหลังถึงมารู้ว่าสิทธิพิเศษในความอิสระและสบายนั้นเป็นของคนเก่งที่มีความรับผิดชอบเท่านั้น) สิ่งที่อินจากวัฒนธรรมการทำงานเมืองนอกนั้นใช้กับประเทศเราได้ยากกว่าที่คิดอยู่มาก เพราะต้องเลือกคนที่มีความรับผิดชอบสูงมากๆให้เข้ามาได้ก่อน  สุดท้ายผลลัพธ์มันไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนกลับมาในรูปแบบเดิม รวมถึงการเริ่มสร้างทีมใหม่ที่เหมาะกับบริบทในประเทศไทยมากกว่า

ทดลอง ล้มเหลว เรียนรู้ และเริ่มต้นทำใหม่อีกครั้ง สิ่งนี้คือรากฐานของบริษัท เป็นทั้งวัฒนธรรม วิธีการทำงาน (ที่ผ่านการใช้จริงในทุกๆมิติ) และลักษณะนิสัยของคนในทีม

สุดท้ายเราก็ได้ค้นพบวิธีที่ทำให้การทำงานมันเวิร์คได้จริง เมื่อเจอกับ COVID19 เราก็สามารถผ่านมันมาได้อย่างราบรื่น (ในเรื่องการทำงานของทีม) ทุกอย่างทำบนออนไลน์และความ Productive เรียกได้ว่า เทียบเท่าหรือมากกว่าเดิม เพราะเหมือนเราเตรียมตัวมาก่อนแล้ว ผ่านการทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยีในทุกๆวัน

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว นี่ก็ 2 ปีกว่าแล้วที่เราทำงานแบบ Remote และทุกอย่างก็ยังทำงานได้เป็นอย่างดี และมีธุรกิจและบริการใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทีมที่เพิ่มขึ้นด้วย

วันนี้จึงอยากมารีวิวให้ดูกันว่า เรามีวิธีการทำงานอย่างไรกันบ้างครับ

Process การทำงานที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า การทำงานแบบ Work From Home หรือ Work From Anywhere 100% นี้นั้น ไม่ได้เหมาะกับทุกบริษัท ถ้าเราจะทำมันได้ดี สิ่งสำคัญคือการคัดเลือกคนเข้าทีมที่มีคุณภาพ ถ้าเรารับคนที่เป็นทั้ง Toxic และขี้เกียจ มันจะพังง่ายมาก ดังนั้นกระบวนการรับคน คือ ด่านแรกที่ต้องผ่านก่อน (ซึ่งผมอาจจะไม่ได้พูดถึงในบทความนี้ เพราะจะเป็นตอนที่ยาวมาก) 

หลังจากรับคนเข้ามาแล้ว การทำงานบนออนไลน์ 100% สำหรับบริษัทจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากเดิมอยู่หลายมุมเลยทีเดียว

1.หั่นภาพใหญ่ให้เป็นเป้ารายอาทิตย์

ในการทำงานรูปแบบนี้ สิ่งแรกของผู้นำที่ต้องทำให้เห็นมากที่สุด คือ ความชัดเจน ทั้งในเรื่องของเป้าหมาย สิ่งที่จะทำ และสิ่งที่จะไม่ทำ เพื่อสื่อสารออกมาและทีมเข้าใจภาพที่ตรงกัน นี่คือจุดแรงของการเตรียมความพร้อมสู่การ WFH 100% ของบริษัทผมเลย


เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วว่าเราจะไปที่ไหน และมีอะไรที่ต้องทำบ้าง ให้นำมาลงในสิ่งที่ทุกคนจะเห็นได้ ที่บริษัทของเราจะใช้ Clickup ในการวางแผนภาพใหญ่รวมถึงการแยกย่อยลงเป็นสิ่งที่ต้องทำในแต่ละอาทิตย์ ส่วนในการนำเสนอ ตัวผมเองเลือกใช้ Google Slide ในการคุยกับทีมในทุกๆวันจันทร์เช้า ร่วมกับซอฟต์แวร์ Endlessloop ในการทำ Growth Hacking (การทำ Experiment)

ต่อมาเมื่อมีจำนวนคนมากขึ้น ข้อมูลใน Clickup เริ่มเยอะ ผมเลยแยกส่วนที่เป็นเป้าหมายออกเป็น Roadmap ที่ละเอียดมากขึ้นบนแอปอย่าง Coda เพื่อให้ทีมเห็นภาพในระยะสั้นและยาวที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา เพราะเวลาเราทำงานเร็วๆและเยอะๆ มันจะเหมือนกับคุณขับรถ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แค่บังคับรถให้ไปตามทางได้ก็เก่งแล้ว ไม่ต้องไปดูว่าจุดหมายอยู่ที่ไหน เราจะเริ่มมาดูจุดหมายเมื่อเราพักรถ

ดังนั้นข้อมูลต้องพร้อมให้กับทีมดูได้เสมอในเวลาที่เค้าต้องการ เราเคารพและไว้ใจในการใช้เวลาทำงานของทีม เพราะเราเป็นคนเลือกพวกเขาเข้ามา (ผมเลยรู้สึกงงมากๆที่หลายๆบริษัทมีการเช็กคนทำงานอยู่ทุกชั่วโมง ถ้าไม่ไว้ใจก็ไม่ควรเอาพวกเขาเข้ามาในบริษัทรึเปล่า?) เวลาในการพักก็คือส่วนหนึ่งของงาน เพราะถ้าไม่พักเพียงพอ การสร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และตามมาด้วยอาการหมดไฟ เราต้องการให้ทีมทำงานอย่างสร้างสรรค์และมุ่งมั่นในเป้าหมาย พวกเขาต้องมีสิทธิ์ในการจัดการทุกอย่างเพื่อใช้ในการขยายขีดความสามารถของตัวเอง

เป้าหมายจะสำคัญต่อเมื่อผู้นำไปคนนำ (ไม่ใช่แค่พูด) และต้องทำให้ชัดเจน จริงๆสิ่งนี้ถึงไม่ WFH ก็ควรจะเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ที่หยิบยกขึ้นมาเพราะจะต้องทำให้เห็นมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะการสื่อสารทางไกล (ออนไลน์) นั้นยากกว่าคุยต่อหน้า และผู้นำต้องให้ความสำคัญในจุดนี้เป็นอย่างยิ่ง

ถ้าจุดที่ 1 ไม่ชัด ทุกอย่างจะกลายเป็นคอขวด

2.เน้นการรีวิวงานที่มากขึ้น

ภายใต้การทำงานแบบ Work From Home แน่นอนว่าพนักงานทั้งหมดในทีมจะไม่ได้มานั่งทำงานด้วยกันที่ออฟฟิศเหมือนตอนปกติ ทำให้ Project Manager หรือหัวหน้าทีมไม่สามารถมองเห็นภาพรวมการทำงานในแต่ละวันได้เลยว่า พนักงานคนนี้ทำงานไปถึงไหนแล้ว ไม่รู้ว่างานที่เขาทำมาจะถูกต้องไหม หรือในแต่ละวันทีมสามารถทำงานลุล่วงไปได้มาก-น้อยแค่ไหน

ส่วนนี้เลยแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Review Sessions เข้ามาในช่วงเย็น (หลัง4โมง) ของทุกวันทำงาน เพื่อเป็นเหมือนช่วงที่ทีมแต่ละคนจะนำผลลัพธ์การทำงานที่ทำในวันนั้น มาให้ Project Manager และทีมรีวิวว่างานเรียบร้อย ถูกต้องไหม หรือมีข้อผิดพลาดอะไรที่ต้องปรับแก้หรือไม่

โดยที่การทำ Review Sessions จะต้องไม่กินเวลาการทำงานของทีมมาก เลยเลือกแบ่งเป็นช่วงเวลาของแต่ละทีม อย่างเช่นทีม Content และ Marketing จะเริ่มการรีวิวตั้งแต่ 16.00 - 17.00 ส่วนทีม Design จะเริ่มตั้งแต่ 17.00 - 18.00 ผ่าน Discord (ให้ทีมแต่ละคนแชร์หน้าจอ) วิธีนี้ถือเป็นส่วนช่วยที่ทำให้คุณภาพงานในบริษัทไม่ดรอปลง แม้จะต้อง Work From Home เป็นเวลานานครับ

*สำหรับทีม Developer จะยังใช้การรีวิวงานเป็น Weekly อยู่ เพราะจะใช้เวลาในการทำงานนานกว่าทีมอื่นๆ

3.ใช้ Tech Stacks เข้ามาช่วย(เยอะ)

กล้าบอกได้เลยว่า เราเป็นบริษัทเล็กๆที่เสียค่า Tech Stacks ในแต่ละเดือนเยอะมาก ทำไมเราถึงเลือกใช้ทั้งที่มันเปลืองขนาดนั้น? เพราะเรามองว่าเวลานั้นแพงกว่าเงินเสมอ สิ่งไหนที่จะช่วยประหยัดเวลาของทีมได้ เราจะลดให้มากที่สุด 

อะไรที่เป็นงานที่ต้องทำซ้ำๆ เอาระบบ Automation มาช่วย ส่วนไหนที่ควรวัดผลหรือช่วยประสิทธิภาพในการสื่อสาร เราต้องลงทุน เพื่อให้ทีมได้ใช้เวลากับการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากกว่างานที่มีคุณค่าน้อยอย่างพวกการจัดการ การรายงาน หรือการประชุมที่ไม่จำเป็น

และนี่คือ Tech Stacks (ไม่ทั้งหมด) ที่เราใช้เป็นหลักครับ

Clickup 

ClickUp ถือเป็นเครื่องมือหลักที่อยู่คู่กับการทำงานในบริษัทของผมมาเกือบ 3 ปี ด้วยความสามารถของ ClickUp ที่เป็นซอฟต์แวร์ด้าน Project Management ที่ครบเครื่อง โดยเราจะใช้ ClickUp เป็นเหมือนพื้นที่ในจัดระเบียบการทำงานส่วนใหญ่ของบริษัท เพื่อทำให้ทีมทุกคนได้ทราบว่า Task งานนี้อยู่ในโปรเจ็กต์ไหน, ใครรับผิดชอบ แล้วทีมของใครจะต้องรับผิดชอบ Task นี้ร่วมกับทีมไหนบ้าง, มีรายละเอียดการทำงานอย่างไร, เดดไลน์วันไหน และยังเป็นพื้นที่ในการใช้ส่งมอบงานกันในองค์กรด้วย


นอกจากนั้นผมยังใช้ตัว ClickUp ในการเชื่อมต่อ API เข้ากับซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ (เป็นความสามารถพิเศษของ ClickUp ที่น้อยคนจะรู้) เช่นเชื่อมต่อกับ Webflow (ผ่าน Zapier) เมื่อเวลามีลูกค้าหรือผู้สมัครงานเข้ามากรอก Lead ในเว็บไซต์ ก็จะมีการสร้าง Task อัตโนมัติใน ClickUp ทำให้รู้ว่ามีลูกค้าหรือผู้สมัครงานส่งรายละเอียดเข้ามา และสามารถส่งต่อให้ทีมคนอื่น ๆ จัดการต่อได้ทันที อันนี้จะเป็นสิ่งที่ผมใช้บ่อย ๆ 

และด้วยฟีเจอร์การใช้งานที่หลากหลาย รวมกับประสบการณ์การใช้งาน ClickUp มาเกือบ 3 ปีทำให้เราตัดสินใจสร้างบริการใหม่ของ The Growth Master ขึ้นมานั่นก็คือ ClickUp Consulting ที่เป็นบริการให้คำปรึกษาด้านการใช้งาน ClickUp ในบริษัท โดยสร้าง Workflow ภายใต้กระบวนการทำงานแบบ Agile, ระบบ Automation และ Integration ต่าง ๆ จากความตั้งใจที่อยากให้ธุรกิจในไทย ได้รู้จัก Productivity Tools สำหรับการทำงานยุคนี้จริง ๆ อย่าง ClickUp (ขอขายของหน่อยนะครับ)

tech stack consulting


Discord

เราใช้ Discord เป็นเครื่องมือสื่อสารแบบวิดีโอคอลของบริษัทในทุก ๆ วัน หรือพูดง่าย ๆ ได้เลยว่าทุกการประชุมทีมของบริษัท จะใช้ Discord เป็นหลัก ไม่ว่าจะใช้ในการทำ Standup Meeting ทุกเช้าเวลา 9 โมง, Review Sessions ทุกตอนเย็นโดยให้พนักงานทุกคน Screen Sharing รายงานความคืบหน้าของงานในแต่ละวัน, War Room ประชุมทีมทุกวันศุกร์, Weekly Summary สรุปผลการทำงานรายสัปดาห์ และทุกการประชุมยิบย่อยต่าง ๆ ภายในบริษัทก็ใช้ Discord ทั้งหมดเช่นเดียวกัน


Google Workspace

เราใช้ Google Workspace (หรือ G-Suite เดิม) ในการเป็นเหมือนพื้นที่การทำงานบนคลาวด์ของพนักงานทุกคน ที่บอกเลยว่าบริษัทผมใช้ Product ของ Google Workspace เกือบครบทุกตัวและใช้คุ้มมาก!

  • Google Drive - ใช้เป็นพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลไฟล์งานทุกอย่างของบริษัทบนคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งดีไซน์และคอนเทนต์ โดยผมจะแบ่งให้เก็บในโฟลเดอร์ของทุกโปรเจ็กต์ที่ทำแยกไว้เป็นไตรมาส เพื่อความสะดวกในการเข้ามาหาข้อมูลเก่า ๆ ในอนาคต
  • G Mail - ใช้เป็นระบบอีเมลของพนักงานทุกคนของบริษัท ใช้ในการส่งงานไปหาลูกค้าหรือบุคคลภายนอก รวมถึงใช้เป็นอีเมลในการสมัคร Account ของซอฟต์แวร์อื่น ๆ ของบริษัท
  • Google Docs - ใช้เป็นพื้นที่ในการเขียนคอนเทนต์หรือสร้างงานเขียนต่าง ๆ ของทีมคอนเทนต์และทีมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • Google Sheet - ใช้เป็นพื้นที่ในการทำไฟล์เอกสารประเภท Data Report หรือ Spreadsheet ทั้งภายในบริษัทเองและของลูกค้า (เชื่อมกับ Supermetrics)
  • Google Slide - ใช้เป็นพื้นที่ในการทำไฟล์ในรูปแบบสไลด์ Presentation ในโอกาสต่าง ๆ ที่เหมาะสม
  • Google Meet - ใช้เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอคอลในการประชุมกับลูกค้าภายนอกองค์กร รวมถึงการสัมภาษณ์พนักงานใหม่
  • Google Calendar - ใช้เป็นพื้นที่ในการเช็กวันหยุดบริษัท แจ้งวันลา หรือเช็กนัดการประชุมของพนักงานทุกคน

Facebook Workplace 

Facebook Workplace เป็นเครื่องมืออีกตัวที่อยู่คู่กับบริษัทมาพอ ๆ กับ ClickUp ซึ่งลักษณะหน้าตาของซอฟต์แวร์ตัวนี้ ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุด มันก็คือ Facebook ที่มีเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทคุณเอง แต่โดยหลัก ๆ แล้วเราจะใช้ Facebook Workplace ในเรื่องของ Company Culture เป็นหลัก 


โดยจะสร้างเป็น Group แยกไว้ให้แผนกต่าง ๆ แจ้งข่าวสารให้คนในบริษัทรับทราบ เช่น  Headquaters Group ใช้ในการแจ้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของพนักงาน (วันลา,เบิกค่าประกัน), Play&Travel Group ใช้ในการโหวตกิจกรรม และ Dinner ประจำเดือน, Up Skill Group ใช้ในการแจ้งประชาสัมพันธ์คอร์สเรียนหรือความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ให้พนักงานได้ศึกษา และอื่น ๆ 

และบริษัทยังใช้ WorkChat ที่เป็นแอปพลิเคชันเสริมของ Workplace (เหมือน Facebook แยก Messenger ออกเป็นอีกแอป) เพื่อใช้ในการแชทเกี่ยวกับเรื่องงาน ทั้งส่วนตัวและกลุ่มกับทีมในบริษัท ทำให้พนักงานมีแพลตฟอร์มสำหรับการคุยงานโดยเฉพาะ ไม่ต้องใช้ Line หรือเครื่องมืออื่น ๆ เลย ซึ่งเป็นการช่วยให้พนักงานทุกคนสามารถแยกเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดี

Endlessloop

Endlessloop คือซอฟต์แวร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทผมเอง เราใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการวางโครงสร้างแคมเปญพัฒนาผลิตภัณฑ์และติดตามผลลัพธ์ทางการตลาดตามศาสตร์ Growth Marketing หรือการตลาดเพื่อการเติบโตอย่างแท้จริง (สำหรับใครที่ต้องการทราบข้อมูลของ Endlessloop เพิ่มเติมอ่าน บทความนี้ ก่อนได้ครับ)


โดยผมจะใช้งาน Endlessloop ในการทำ Weekly Experiments หรือการหาไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รายสัปดาห์ เพื่อหา Solution ที่ดีที่สุดในการทำให้ผลิตภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงติดตามผลลัพธ์ของการทำงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้อย่าง Real time ภายในซอฟต์แวร์ตัวเดียว ซึ่งปัจจุบันทุกโปรเจ็กต์ของบริษัท (และอีกมากมายในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น) จะใช้ Endlessloop นี่แหละเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ทั้งหมด

สนใจเริ่มใช้งาน Endlessloop สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจคุณได้แล้ว ที่นี่

Coda

สำหรับโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ที่ต้องให้ทีมทุกคนเห็นภาพเป็นไตรมาส หรือเป็นแบบ Yearly Plan เราจะใช้ Coda เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการวาง Roadmap, Wiki และ Checklist ของโปรเจ็กต์นั้น ๆ ในมุมที่เป็นระยะยาว 


รวมถึงใช้ Coda สร้างวัฒนธรรมองค์กร เป็นพื้นที่ในการสร้างคู่มือหรือเอกสารวิธีการใช้งานซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ของบริษัทในกรณีที่อนาคตเรามีการขยายทีม มีจำนวนพนักงานเพิ่มมากขึ้น เราก็จะให้พนักงานใหม่ ๆ เข้ามาศึกษาวิธีการใช้งานของซอฟต์แวร์ในบริษัท (ที่มีเยอะมาก) ผ่านคู่มือที่เราสร้างไว้ให้ใน Coda นอกจากช่วยเรื่องการสร้างความเข้าใจให้พนักงานใหม่แล้ว ยังเป็นการประหยัดเวลาที่ทีมต้องลงมือสอนการใช้งานซอฟต์แวร์ตัวนั้น ๆ ให้พนักงานใหม่ด้วยตัวเอง

Miro + Figma

ในการประชุมทีม ระดมไอเดียในแต่ละครั้ง (บริษัทผมจะเรียกว่า Growth Sessions) เราจะใช้ซอฟต์แวร์ 2 ตัวในการทำหน้าที่เป็น Online Whiteboard ให้ทีมทุกคนได้ร่วมกันแชร์ไอเดียในแต่ละโปรเจ็กต์ นั่นก็คือ Miro และ Figma 


โดย Miro จะใช้ในการทำ Growth Sessions เป็นหลัก โดยให้ทีมได้เสนอไอเดียลงในกระดาน หรือใช้ในการวางกลยุทธ์ธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการร่วมงานของทีมหลายคน รวมถึงการ Workshop พนักงานใหม่และน้องที่มาฝึกงาน ส่วน Figma จะใช้เกี่ยวกับการแชร์ไอเดียเป็น Prototype สำหรับงานดีไซน์ งานออกแบบเว็บไซต์ หรือ UI ของแอปพลิเคชันเป็นหลัก

Zapier + Supermetrics

Zapier และ Supermetrics คือ 2 ซอฟต์แวร์ที่เข้ามาช่วยให้การทำงานของทีมเกี่ยวกับด้าน Data และการสร้างระบบ Automation ประหยัดเวลาขึ้นได้มากจริง ๆ และทีมทุกคนที่ลองใช้ก็ยอมรับเป็นเสียงเดียวกัน

โดยเริ่มจากตัว Zapier เราใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้เป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างระบบ Automation จากซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง ไปยังซอฟต์แวร์อีกตัวหนึ่ง ที่ทำให้การทำงานสะดวก รวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดได้มากขึ้น เช่น จาก Webflow สู่ ClickUp เหมือนที่ยกตัวอย่างไปตอนต้น


ส่วน Supermetrics ซอฟต์แวร์ตัวนี้เป็นตัวช่วยในการช่วยลด Task จุกจิก อย่างการจะทำ Report ให้ลูกค้าที่ในการรวบรวมข้อมูล สรุปผลการดำเนินงานแต่ละทีก็ต้องกดเว็บนู้น เข้าเว็บนี้ Copy&Paste วนไป ซึ่งมันเป็น Task เล็ก ๆ ที่ดูดเวลางานของทีมไปเยอะมาก แต่การได้ Supermetrics มันช่วยได้เยอะจริง ๆ เช่น ต้องการดึง Data ของเว็บไซต์ใน Google Analytics ลงใน Google Sheet ก็เพียงแค่กดไม่กี่ปุ่มเท่านั้น ข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกเรียงลงใน Google Sheet อัตโนมัติทันที

ซึ่ง Tech Stack ทั้งหมดที่กล่าวมานอกจากเรื่องของฟีเจอร์ที่เหมาะกับการทำงานแบบ WFH แล้ว อีกหนึ่งประโยชน์ที่เห็นได้เลยคือเรื่องของเวลาทำงานที่น้อยลง ลดขั้นตอนความวุ่นวาย ซึ่งสิ่งนี้เองมันเลยทำให้ ทีมมีเวลาในการทำงานหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้บริษัทมากขึ้น 

ถึงตรงนี้พอจะทราบเหตุผลแล้วหรือยังครับว่าทำไม บริษัทถึงยอมเสียเงินจำนวนมากกับ Tech Stack เหล่านี้ในการทำงานแต่ละเดือน  

4.สัมภาษณ์ออนไลน์ 100%

อย่างที่ได้เกริ่นไปในช่วงแรกแล้วว่าตอนนี้ที่บริษัทเรากำลังมีธุรกิจและบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการขยายทีมเกิดขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์นี้ทำให้ในการสัมภาษณ์งานของบริษัทถูกเปลี่ยนมาเป็นแบบออนไลน์ 100% ผ่านการวิดีโอคอลด้วย Google Meet

แม้อาจดูเป็นเรื่องปกติของการสัมภาษณ์งานในยุคโควิดแบบนี้ แต่ใน Culture ของบริษัทจะให้ความสำคัญกับการสร้างทีมมาก ๆ ดังนั้นการสัมภาษณ์งานแบบออนไลน์ ของผมเลยจะเพิ่ม Flow การสัมภาษณ์ออนไลน์ที่จะช่วยให้การพิจารณารับใครสักคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีม มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยผมจะแบ่งการสัมภาษณ์ออกเป็น 2 รอบติดต่อกัน โดยรอบแรกจะเป็นการสัมภาษณ์กับ CEO และทีม HR เพื่อดูว่าผู้สมัครคนนั้นมีทัศนคติ, Mindset และวิธีการสื่อสารตรงกับคนที่เราตามหาหรือไม่ ซึ่งถ้าผ่านรอบนี้เราจะให้ผู้สมัครได้สัมภาษณ์ในรอบต่อไปทันที ซึ่งจะเป็นการสัมภาษณ์กับ “ทีม” ที่จะต้องร่วมงานกันในอนาคตจริง ๆ เพื่อให้ทีมของเราดูว่า ผู้สมัครคนนั้นมีความรู้ ความสามารถในสายงานมากน้อยเพียงใด และมี Teamwork Mindset ในการทำงานร่วมกับทีมเป็นอย่างไร

จากนั้นเราจะให้โจทย์ (Test) ภายในระยะเวลาจำกัด เพื่อเป็นเหมือนการทดสอบว่าผู้สมัครคนนั้น จะสามารถทำงานในโจทย์งานจริง ๆ ของบริษัทได้หรือไม่ เขามี Process ในการทำงานและการจัดการเวลาเป็นอย่างไร โดยจะให้ผู้สมัครทำโจทย์ให้เราดูตอนสัมภาษณ์นั้นเลย (ผ่านการ Screen Sharing ใน Google Meet) 

ซึ่งการใช้ Flow การสัมภาษณ์แบบนี้ก็ช่วยให้บริษัทสามารถขยายทีมที่มีทั้ง Character, Mindset และ Skills ที่ตรงกับคุณสมบัติที่เราต้องการได้ โดยต้องไม่ลืมว่าการสัมภาษณ์ทั้งหมดเป็นแบบออนไลน์ 100% 

(วิธีนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของบางบริษัทนะครับ อาจไม่เหมาะกับบางบริษัทที่ต้องการเห็นบุคลิกภาพของผู้สมัครงานในการพิจารณา)

5.การสร้างสรรค์ไอเดียใหม่

เพราะไอเดียที่ดีที่สุด ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทีม ในทุกเดือนที่บริษัทจะมีการทำสิ่งที่เรียกว่า Growth Sessions หรือการระดมไอเดียของทีมใน Topic ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและการเติบโตของธุรกิจ ที่เราต้องการไอเดียในการนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ในอนาคต

โดยเราจะเรียกทีมทุกคนมารวมกันใน Discord แจกโจทย์ เพื่อระดมไอเดีย ให้เวลาในการคิด 15-20 นาที พนักงานทุกคนจะต้องคิดไอเดียใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและสามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้แบบไม่สนถึงกระบวนการ เพราะในขั้นตอนนี้เราจะเน้นจำนวน ให้มีจำนวนไอเดียมากที่สุด แล้วให้แต่ละคน Present ถึงไอเดียของตัวเองผ่านการสร้างบอร์ดนำเสนอใน Miro 


หลังจากนั้นเราก็จะนำไอเดียทั้งหมดจะนำมาให้คะแนน (ICE score) เพื่อเรียงลำดับความสำคัญในการนำไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงต่อไปในอนาคต ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบันมีหลายโปรเจ็กต์ของบริษัทที่ได้ไอเดียมาจากการทำ Growth Sessions อันเกิดจากไอเดียของพนักงานทุกคนในทีมจริง ๆ 

6.War Room

ย้อนกลับไปสมัยอดีตที่มีการทำสงคราม เหล่าผู้นำจะเรียกแม่ทัพ จอมพล หรือผู้บัญชาการหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรบครั้งนั้นเข้ามาประชุมลับเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ทางการรบให้ได้รับชัยชนะ ซึ่งการประชุมลักษณะแบบนี้จะถูกเรียกว่า “War Room”

ในช่วง Work From Home เราเลยนำไอเดียที่ว่านั้น มาต่อยอดเป็น War Room ในการวางแผนเพื่อเพิ่มความ Productive ของทีม อธิบายให้ชัดขึ้น War Room ของเราก็คือการประชุมทีมผ่าน Discord ในทุกวันศุกร์ ที่จะมีเฉพาะ CEO, COO, Project Manager และ Head ของแต่ละทีม เข้าร่วมประชุม ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที

โดยเนื้อหาของการประชุมก็เป็นการวางแผนการทำงานในสัปดาห์ต่อไป กระจายงานที่ได้รับมอบหมายให้กับทีมคนอื่น ๆ รวมถึงเป็นการอัปเดตความคืบหน้าหรือปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละโปรเจกต์ให้ทีมรับรู้ เพื่อที่ทีมจะได้ช่วยวางกลยุทธ์ในการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะการจัดการ เพิ่มความรับผิดชอบและเพิ่มทักษะในการบริหารเวลาให้แก่หัวหน้าทีมที่เข้าร่วมประชุมด้วย

จุดด้อยของการทำงาน WFH 100%

แน่นอนว่าทุกอย่างต้องมีข้อเสีย และข้อเสียของการทำงานแบบนี้นั้น คือ สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยกลยุทธ์ในระยะยาว จริงอยู่ว่าในภาพระยะสั้นมันอาจเห็นจุดด้อยนี้ในเชิงผลลัพธ์ไม่ชัดมาก แต่ในภาพหากมองไกลๆหลัก 5-10 ปี ผมมองว่าไม่คุ้มค่าขนาดนั้น ถ้าจะทำงานแบบ WFH 100% ในประเทศไทย (ในความเห็นส่วนตัวและบริบทของบริษัทผมนะ)

โดยสิ่งที่ต้องแลกที่มีผลต่อระยะยาว มีดังนี้

ความสัมพันธ์ของทีมลดน้อยลงกว่าเดิม

ในบริษัทที่ต้องการเติบโตเร็วๆ มีคนใหม่เข้ามาเรื่อยๆนั้น ความสัมพันธ์ของคนในทีมสำคัญมาก และการทำงานผ่านออนไลน์อย่างเดียว สร้างความสัมพันธ์ได้น้อยถึงน้อยมาก เมื่อทีมไม่สนิทกันขนาดนั้น การทำงานประสานกันก็จะมีคุณภาพน้อยลงตามลำดับ

แต่สิ่งนี้อาจเห็นภาพไม่ชัดมากในตอนแรก เพราะต่างคนก็จะทำงานออกมาให้ดีที่สุดในมุมของตัวเองและเอามาประกบรวมกันไปงานของทีม เมื่อทำงานไปนานขึ้นๆ จะเริ่มเข้าสู่การทำงานแบบงานใครงานมัน การทำงานเป็นทีมเริ่มลดน้อยลงไป บรรยากาศการทำงานจะเปลี่ยน

นั่นจะส่งผลเสียต่อระยะยาวมาก เพราะเมื่อบรรยากาศเปลี่ยนไปในรูปแบบนั้น และเรามีการรับคนเข้ามาใหม่อยู่ตลอด จะทำให้พนักงานใหม่ซึมซับบรรยากาศแบบนั้นเข้าไป และเกิดกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่เราไม่ได้ต้องการ

แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการสร้างสิ่งนี้...

ซึ่งบริษัทเองก็ได้คิดแนวทางแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการมอบสิ่งที่เรียกว่า Happiness Culture หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความสุขของพนักงานเป็นสำคัญ โดยจะเริ่มจากการสร้างสวัสดิการที่มอบความสุขให้ตัวของพนักงานเป็นรายคนก่อน เช่นการให้ Birthday Gift หรือของขวัญวันเกิดที่จะส่งไปที่บ้านของพนักงาน สิ่งนี้จะช่วยทำให้พวกเขาเห็นว่า บริษัทเองไม่ลืมวันพิเศษของคุณ ถึงแม้ช่วงนี้ต้อง WFH ตัวพนักงานเองเขาก็จะมีความสุขจากสิ่งที่บริษัททำให้ และมีทัศนคติที่ดีในการร่วมงานกับทีม

จากนั้นก็เป็นการสร้างความสุขให้กับทีมทุกคน ให้มีกิจกรรมที่ได้มาพบปะ สร้างปฏิสัมพันธ์กันบ้างอย่างในช่วงสถานการณ์ที่ COVID-19 ยังไม่ระบาดหนัก ผมก็จะมีกิจกรรมที่ให้ทีมมาใช้เวลาร่วมกันสักเดือนละ 1-2 ครั้งเช่น การกินข้าว เล่นเกม หรือ Company Outing ไปเที่ยวกันทั้งออฟฟิศ หรือในช่วงนี้ที่ COVID-19 เริ่มกลับมาระบาด กิจกรรมที่กล่าวไปอาจจะต้องงดไปก่อนแต่ก็ทดแทนด้วยกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์เช่น เล่นบอร์ดเกมออนไลน์กันทุกเย็น

เพราะเราเชื่อว่าถ้าเรามีทีมที่สนิทกันก็จะทำงานได้ราบรื่นมากกว่า และการความสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยให้เรามีความสุขในทุกๆวันที่เข้ามาทำงานอีกด้วย

รวมถึงด้านสุขภาพในช่วงที่ทีมต้อง WFH บริษัทก็มีสวัสดิการให้พนักงานในการแข่งขัน Challenge วิ่งมาราธอนแบบ Virtual Run จากแอป WIRTUAL ฟรี เพื่อลุ้นรับรางวัลต่าง ๆ ให้พนักงานได้ใช้เวลาออกกำลังกาย ผ่อนคลายจากการทำงาน หรือสวัสดิการฉีดวัคซีน COVID-19 ฟรี ให้แก่พนักงานและคนในครอบครัว ก็เป็นสวัสดิการที่บริษัทจัดให้เพื่อมอบความสุขให้แก่พนักงานช่วง WFH 

การสอนทีมไม่เท่ากับสอนต่อหน้า

ทีมจะเก่งได้ ต้องมีหัวหน้าที่โค้ชเก่ง นั่นคือหนึ่งในหัวใจของการสร้างทีม รวมไปถึงรูปแบบของการโค้ชก็สำคัญ เพราะคนเราเรียนรู้ได้ต่างกัน บางคนชอบอ่าน บางคนชอบฟัง บางคนเรียนรู้ผ่านการสอน ซึ่งในการเรียนรู้นี้เอง จากตัวอย่างในวงการด้านการศึกษา มันทำให้เราเห็นเลยว่า รูปแบบการเรียนรู้ของคนผ่านการสอนนั้นเปลี่ยนไปช้ามาก

100 ปีที่แล้วมีการสอนอย่างไร (หน้าชั้นเรียน) 100 ปีมานี้ก็ยังคงสอนไม่แตกต่างจากเดิม และคุณจะเห็นได้เลยว่า รูปแบบการสอนที่คนรู้สึกว่าเข้าใจจริงนั้น เกิดขึ้นตอนเราเจอหน้ากันซะเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับการโค้ชผ่านการทำงานออนไลน์

ซึ่งส่วนตัวผมมองว่า เราไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่ากับการมาเจอ มาสอนต่อหน้าได้เลย 

ดังนั้นการที่เราจะ WFH ได้ 100% แล้วดีจริงๆ การจ้างเด็กจบใหม่เลย อาจจะเป็นเรื่องท้าทาย เราต้องแน่ใจได้ว่ามีกระบวนการโค้ชที่ดีมากพอ รวมถึงน้องที่เข้ามามีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สูงพอ

ในส่วนของบริษัท สิ่งที่ใช้ในการโค้ชคือผ่านแอป Discord + Keynote + Miro คือจุดไหนสงสัยแชร์หน้าจอขึ้นมาและอธิบายตรงนั้น ถ้ามีการสอนก็สอนผ่านการใช้สไลด์บน Keynote และทำ Workshop ต่าง ๆบนแอป Miro 

มันอาจไม่ได้ดีเท่าสอนต่อหน้า แต่อย่างน้อยเราเชื่อว่า ทีมเข้าใจมากพอที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้ และถ้ามีตรงไหนต้องการสอบถามก็สามารถเข้าถึงตัวคนที่ต้องการได้เลย ที่นี่เราไม่มีลำดับขึ้น รูปแบบคือ Flat มาก ๆ เข้าถึงได้ทุกคนพร้อมกับความยินดี 

ทำงานแบบไหนก็ได้ ถ้าสร้างวัฒนธรรมองค์กรมาอย่างแข็งแรง

คำว่า วัฒนธรรมองค์กร คืองานของผู้นำที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา และกว่าจะสร้างขึ้นมาได้นั้นใช้เวลามากๆ เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็ต้องหมั่นตรวจสอบว่า มันเป็นแค่เราพูดอยู่คนเดียว หรือ คนทั้งองค์กรนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้น มันคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณ(หัวหน้า)ไม่อยู่ตรงนั้น”

หลายๆองค์กรเมื่อเจอกับ COVID-19 ทำให้การจัดการด้าน Operation มีหลายจุดที่ต้องแก้ และเห็นจุดที่ต้องพัฒนาในหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • บุคลากรไม่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือถ้าเรียนรู้ใหม่ใช้เวลานานมากและยังไม่ได้ประสิทธิภาพ หรือขั้นหนักสุดมาด้วย Mindset ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
  • ไม่มี Process การทำงานและการวัดผลเลย ไม่มีใครมาจัดการด้านนี้ หรือเคยทำมาแล้วแต่มีแค่ระดับ Management ที่สนใจแต่ทีมที่เหลือไม่มีใครทำตามเลย
  • ผู้นำขาดความเข้าใจในการสร้างคน สร้าง Process และสร้างวัฒนธรรมองค์กร อาจจะเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญหรือไม่สนใจ เลยทำให้บริษัทไม่มีงบประมาณและคนมาจัดการ

รอยรั่วที่พูดถึงนี้คือปัญหาสุดคลาสสิกที่หลายๆองค์กรกำลังเจออยู่ บางที่กำลังแก้ บางที่ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ จริงๆทางแก้ตามหลักการนั้นง่ายนิดเดียว คือ แก้ที่ผู้นำ ถ้าผู้นำเข้าใจ เห็นภาพ ต้องการทำจริง ลงมาดูแลใกล้ชิด ให้งบประมาณและคน ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยในไม่ช้า

แต่ชีวิตจริง ไม่ใช่ทุกบริษัทที่ผู้นำจะเข้าใจในระดับนั้น และปัญหาง่ายๆก็กลายเป็นเรื่องยาก เมื่อต้องเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดหรือพฤติกรรมของใครสักคนที่มีอำนาจอยู่ในมือมาเป็นเวลานาน และอาวุโสมากกว่าด้วย

นั่นเป็นโจทย์หินเลยหละ ทางเลือกที่ดีที่สุด ถ้าวันนี้เราเป็นผู้ตาม เราเชื่อแบบไหนให้ไปหาผู้นำที่เชื่อแบบเดียวกัน แล้วการทำงานจะมีความสุขมากขึ้น และถ้าวันไหนที่เราต้องเป็นผู้นำ ให้นึกถึงวันที่เราเป็นผู้ตาม ในวันนั้นเราอยากมีคนแบบไหนเป็นผู้นำ เราก็จงทำตัวเป็นแบบนั้น

และถ้าวันนี้เราต้องเป็นผู้นำที่ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างบริษัทที่เดินหน้าด้วยเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง เราจะทำแบบไหนดีที่เหมาะกับคน Gen Y & Z จากมุมมองของคน Gen Y สร้างบริษัท ผมอาจไม่มีประสบการณ์ในการสร้างบริษัทมายาวนานเป็นสิบปี แต่ถ้าเป็นเรื่องการสร้างบริษัทให้คนรุ่นวัยเดียวกันอยากทำงานด้วย ผมว่าเรื่องนี้อาจมีประโยชน์กับคุณครับ มาดูกันว่าที่บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง

ให้เวลากับเรื่องของคน

ถ้าบริษัทต้องการทำเกี่ยวกับด้านนวัตกรรมหรือดิจิทัล คนในทีม คือ สิ่งสำคัญที่สุดของบริษัท ต้องให้เวลาและทรัพยากรที่มากพอกับทีม คน Gen Y มีความคาดหวังในตัวบริษัทที่เยอะกว่าคนรุ่นก่อน และคอยมองหาโอกาสอยู่เสมอ ในการสร้างทีมเราจำเป็นต้องมีคนที่พร้อมถ่ายทอดทักษะ เครื่องมือที่พร้อม รวมถึงโอกาสในการเติบโตในบริษัทที่ชัดเจน

มากกว่านั้นยังต้องให้เวลาที่มากพอเพื่อให้ทีมได้พิสูจน์ฝีมือ เพราะหลายๆครั้งคนรุ่นเดียวกับผมมักจะเรียนรู้ได้ดีจากข้อผิดพลาด การให้โอกาสได้แก้ตัว (กับคนที่ถูกต้อง) เป็นเรื่องที่จำเป็น และคุณอาจประหลาดใจได้เลยว่า คนๆหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและพัฒนาได้เร็วมาก เมื่อได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองและมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้นสิ่งที่ใช้วัด ผมมองว่าเป็นเรื่องของแรงจูงใจ ไฟในการพัฒนา มากกว่าเรื่องทักษะที่มีในปัจจุบัน รวมกับคาแรกเตอร์ส่วนตัวของพวกเขา ที่จะทำให้เป็นคนที่เก่งจนบริษัทขาดไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลได้ชัดเจน 

ผู้นำทำเป็นตัวอย่างเสมอ

การประเมินไม่ได้ถูกทำอยู่ฝั่งเดียวเหมือนเมื่อก่อน (Top-Down) ในยุคนี้นั้นทีมที่ทำงานกับคุณ ล้วนประเมินความสามารถของผู้นำพวกเขาอยู่เสมอว่าเก่งจริงไหม ทำได้อย่างที่พูดหรือเปล่า หรือสามารถเป็นแบบอย่างให้มีแรงจูงใจในการทำงานอยู่เสมอได้ไหม

ผู้นำที่เป็นแบบอย่างได้ ไม่ว่าจะทำสิ่งไหน ผู้นำต้องทำให้เห็นก่อน ทำให้เชื่อมั่นได้ก่อน ถึงจะได้ใจกับทีมของคน Gen Y รูปแบบที่เป็นสมัยก่อนอย่างการสั่งงาน สั่งทิ้งไปเรื่อยๆ อาจไม่ได้ผลมากนักอีกต่อไป เพราะเด็กรุ่นใหม่มักชอบตั้งคำถามกับสิ่งที่หลายๆครั้งมันดูไม่เข้าท่า ซึ่งการตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ดีมาก เมื่อมีคำถามเกิดขึ้น ผู้นำจะต้องทำให้เห็นได้ ไม่ใช่เพียงแค่พูดอย่างเดียว

ความคาดหวังในตัวของผู้นำก็สูงมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเช่นกัน เมื่อมีความคาดหวังสูง และผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่างในเรื่องต่างๆ จึงจำเป็นมากว่าต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะในขนาดบริษัทที่โตขึ้น จะต้องการทักษะความสามารถของผู้นำที่มากขึ้นตาม รวมถึงอาจเป็นทักษะใหม่ ๆ อีกด้วย

ความชัดเจน

เมื่อภาพมันกำกวม คนรุ่นนี้จะขาดกำลังใจ ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร และสุดท้ายจะย้ายไปอยู่ที่อื่น สิ่งสำคัญคือ ต้องชัดเจนว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร และไม่ให้ความสำคัญกับอะไร เป้าหมายเราจะไปที่ไหน และสิ่งที่ต้องทำคืออะไร หรืออยากเห็นผลลัพธ์อะไร

มันคือเรื่องของการสื่อสาร และการรักษาคำพูดที่จะทำให้สิ่งที่เราบอกนั้นเกิดขึ้นจริง สิ่งนี้บ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือ และเป็นไฟของคนในทีม มันอาจจะดูเป็นสิ่งที่พูดกันทั่วไปอยู่แล้ว แต่จากประสบการณ์ที่เจอมา มีน้อยบริษัทมากที่ผมติดต่อด้วยที่จะมีความชัดเจนกับคนในทีมจริง ๆ

ยืดหยุ่นแต่ไม่ยวบ

หมดยุคของการทำงานตอกบัตรแล้ว เราต้องเชื่อใจคนที่เราจ้างเข้ามา และเชื่อว่าพวกเขาจะทำในสิ่งที่สมควรทำ กระบวนการต่างๆของบริษัทต้องให้ความยืดหยุ่นที่มากพอ แต่ต้องมี Process การรีวิวงานที่มีคุณภาพ สองสิ่งนี้มาคู่กันได้ ถ้ามีการจัดการที่ดี วางกระบวนการต่างๆให้ชัดเจน แต่ในเรื่องวิธีการให้แต่ละคนไปจัดการเอง

สิ่งที่ยากของเรื่องนี้คือ ต้องบาลานซ์อยู่ตลอด ยืดหยุ่นอย่างไรให้ไม่ยวบ มีระบบอย่างไรให้ไม่เคร่งครัด มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องออกแบบให้ตรงกับลักษณะนิสัยของคนในทีม รวมถึงรูปแบบธุรกิจ นี่คือหนึ่งในความสามารถของผู้นำ

จะทำให้ออกมาดี ผู้นำอาจต้องใช้เวลากับคนในทีม หรืออาจจะต้องเป็นคนที่รับฟังอย่างเข้าใจ คิดในมุมคนอื่นก่อนตัวเองบ้าง จึงจะทำให้มันเวิร์คกับทีมได้จริง ๆ

ความอิสระ คือ สิทธิพิเศษสำหรับคน Growth Mindset

ไม่ใช่ทุกคนที่สมควรได้ความอิสระและสิทธิพิเศษเต็มรูปแบบ การมอบให้กับคนที่ผิด อาจทำให้บริษัทสูญเสียมาก ทั้งในเรื่องของการทำให้คนมีไฟหมดไฟ วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไป ทุกอย่างเลวร้ายได้ เพราะมอบอภิสิทธิ์ให้กับคนที่ไม่สมควรได้รับ

ส่วนตัวผมและในมุมมองของบริษัทมองว่า จะมอบให้กับคนที่มี Growth Mindset ที่มองเป้าหมายของบริษัทเป็นเหมือนเป้าหมายของตัวเอง และควรมีรูปแบบหรือกระบวนการอะไรบางอย่างเพื่อตรวจสอบและวัดผล เมื่อเราแน่ใจแล้วว่า พวกเขาคือคนที่ใช่

มอบอิสระและสิทธิพิเศษ ความยืดหยุ่นต่าง ๆ ให้ได้เต็มที่ เพราะคนที่มีชุดความคิดดีจะเป็นคนเก่งในอนาคต และเป็นผู้นำในองค์กรต่อไป การรวมคนเก่ง วิธีคิดดี วัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะตามมา

สรุปทั้งหมด

การออกแบบวิธีการทำงาน การใช้เครื่องมือต่างๆ เป็นเพียงเรื่องสำคัญลำดับที่ 2 เพราะลำดับแรกที่สำคัญที่สุด คือ การนำคนที่เก่งและเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ดีเข้ามาให้ได้ ผมเชื่อในเรื่องของ Garbage in, garbage out มันไม่มีทางเลยที่จะทำให้เวิร์คได้ ถ้าขั้นตอนการรับคนไม่ดีพอ

ในทางเดียวกัน ถ้ามีคนที่ใช่ การออกแบบวิธีการทำงานและการใช้เครื่องมือต่างๆ ถึงแม้ในตอนแรกมันจะไม่ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากนัก แต่พวกเขาจะเป็นคนช่วยคุณให้มันออกมาได้ดีในตอนท้ายที่สุดอยู่ดี

โฟกัสที่คน คอยหมั่นปรับปรุงวิธีการทำงานและเครื่องมือ ให้ความสำคัญและทรัพยากรในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สุดท้ายผมเชื่อว่า มองในภาพระยะกลางถึงยาว บริษัทจะเติบโตอย่างแข็งแรงได้ และจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดขึ้นของผู้นำ