Growth Model

"Software" อนาคตของบริษัทที่ต้องการเติบโต

W. JAMES

ดับบลิวเจมส์ Growth Master Certified โดย Growthhackers.com คนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท W JAMES เคยเป็นวิทยากรให้กับ SCG, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, Sharing Citizen, Getlinks และ Thailand Startup Week

"Software" อนาคตของบริษัทที่ต้องการเติบโต
"In short, software is eating the world"
Marc Andreessen

ผมเองก็เชื่ออย่างเดียวกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทที่ยังสามารถสร้างการเติบโตได้อยู่จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น Software ของตัวเอง รวมถึงมีทีม Tech ที่เชี่ยวชาญในการสร้างผลิตภัณฑ์อยู่เบื้องหลัง คุณสามารถดูได้จากบริษัท Top 10 ของโลก มีกี่บริษัทที่มีผลิตภัณฑ์หลักเป็น Software ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook หรือ Amazon

เรื่องนี้อาจจะดูไกลตัวจากเรามาก เพราะประเทศไทยไม่มีบริษัท Software สัญชาติไทยอยู่ในตลาดหุ้นเลย และแรงงานในด้านนี้นั้นยังคงขาดแคลนอย่างหนัก แต่ต้องยอมรับว่าถึงเราจะไม่พร้อมสำหรับโลก Software ไม่ได้แปลว่า เราจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสิ่งนี้

"เรากำลังจะตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้" นี่คือหนึ่งในคำพูดที่ยังคงตราตรึงในความทรงจำของผมตลอดมาจากการได้ไปฟังเจ้าพ่อวงการสตาร์ทอัพของไทย คุณกระทิง พูนผล

คุณลองนึกถึง Software ที่ใช้ในทุกๆวัน ผมขอยกตัวอย่างจากชีวิตตัวเอง ตื่นเช้ามาปิดนาฬิกาปลุกบนแอปบน Apple Watch เลื่อนดู Notification จาก Gmail และ Line อาบน้ำเสร็จเลื่อน Feed บน Facebook เพื่อเช็คข่าวสาร ออกจากบ้านถ่ายวีดีโอลง Story บน Instagram ระหว่างทางฟัง Podcast บน Spotify เริ่มต้นคุยงานด้วยระบบ Discord ติดตามงานในโปรแกรม Clickup เลิกงานแจ้งทีมบน Workplace และพักผ่อนด้วยการดูหนัง Netflix

ไม่มีเลยแม้แต่ 1 โปรแกรมที่มาจากไทย และเงินทุกบาทที่จ่ายออกไปไหลไปสู่มือต่างชาติทั้งหมด นี่คือบทความที่ต้องการเชิญชวนคุณมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Technology สัญชาติไทยไปด้วยกัน

Software คืออนาคต?

คิดว่าหลายคนน่าจะกำลังมีคำถามว่า แล้วเศรษฐกิจประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร? ในสถานการณ์ปัจจุบัน (ไม่ขอพูดด้านการเมือง) ที่ทั้งมี COVID และกำลังการใช้จ่ายของผู้คนลดน้อยลงไปมาก เนื่องจากปัญหาการตกงานเพราะบริษัทจำนวนมากปิดตัวลง

แต่ก็มีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ในช่วงเวลานี้ เพราะอยู่ในคลื่นที่ทุกคนกำลังปรับตัวเข้ามา นั่นก็คือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มต่างๆ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า เอเจนซี่การตลาดออนไลน์ หรือผู้ประกอบการขายสินค้าบนออนไลน์

"อนาคตที่ทุกอย่างจะปรับตัวมาสู่ออนไลน์ในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของผลิตภัณฑ์ Software ต่างชาติ"

เมื่อคนเริ่มปรับตัวและเรียนรู้บนออนไลน์มากขึ้นก็จะเริ่มต่อยอดการสร้างสรรค์ เมื่อนั้นจะมีผู้ประกอบการเริ่มสร้างบริษัท Software มากขึ้น และเริ่มต้นจ้างงาน สร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับประเทศ

แต่สถานการณ์ในวงการ Tech ประเทศไทยนั้นยังขาดผู้นำในด้านนี้ บริษัทด้าน Technology ที่เป็นยูนิคอร์น(บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า $1,000 ล้าน) สัญชาติไทย ที่จะสามารถปลดล็อกอนาคตของประเทศได้ ให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นว่าในตลาดไทยก็สามารถมีบริษัทที่สามารถเติบโตในระดับนี้ได้ไม่แพ้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามหรือมาเลเซีย

ในมุมมองของผม Software เป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทย ที่เราต้องช่วยกันสร้างออกมาใช้ในประเทศและขยายไปครองตลาดในต่างประเทศให้ได้

ตัวอย่างบริษัทต่างๆด้าน Software ในไทย

Flowaccount ระบบบัญชีออนไลน์ แบบใช้งานง่ายๆ เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs

Omise บริการ Payment Gateway ที่เปิดให้เราจ่ายเงินทางออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร

WIRTUAL แอปจัดการแข่งวิ่งแบบ Virtual Run ให้คุณวิ่งที่ไหน เมื่อไรก็ได้ (ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเราเอง)

wirtual

Software นั้นเติบโตง่ายกว่า?

ข้อดีของรูปแบบผลิตภัณฑ์ Software นี้ คือ สามารถสเกลได้ง่ายกว่า ตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้ต้องการขยายไปต่างประเทศก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องยุ่งยากเหมือนรูปแบบธุรกิจอื่น จึงทำให้เป็นปัจจัยสำคัญของบริษัทด้านนี้ที่ใช้ในการรุกกินส่วนแบ่งการตลาดเหนือคู่แข่งได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า

แต่การจะทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะส่วนที่ยากของการทำ Software นั้น คือการสร้างทีม การออกแบบประสบการณ์ผลิตภัณฑ์ให้ใช้ง่าย แก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้ดีที่สุดในตลาด และสร้างออกมาได้ดีสุดๆ เพื่อให้ผ่านจุด Product Market Fit และใช้ศาสตร์ Growth Hacking สร้างการเติบโตต่อไป

ดังนั้นการสร้างธุรกิจ Software ให้เติบโตได้เร็วนั้น ไม่ได้ง่ายไปกว่าธุรกิจรูปแบบอื่น แต่การสเกลไปสู่ตลาดใหม่ๆนั้นง่ายกว่ามาก

จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ Software..

การสร้าง Software นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่างให้ผู้ใช้ ยิ่ง Software ไหนที่ประสบความสำเร็จ แสดงว่าช่วยแก้ปัญหาได้ดีมากและอยู่ในตลาดที่ใหญ่มากพอ(มีกลุ่มคนที่มีปัญหานี้จำนวนมาก)

สรุปได้ว่า ตลาด คือสิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะสร้าง Software ใดออกมา ต้องดูก่อนว่าในตลาดนั้นมีความต้องการผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่? ขนาดของกลุ่มลูกค้าใหญ่แค่ไหน? และผลิตภัณฑ์ที่ครองตลาดอยู่ เราสามารถทำให้ดีกว่าเป็น 10 เท่าได้จริงไหม?

หลังจากนั้นจึงเร่ิมต้นรวบรวมทีมแบบลีนที่สุด คือมีคนที่เชี่ยวชาญใน 3 ศาสตร์ ธุรกิจ, ดีไซน์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในขั้นนี้ สิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือ สร้างของออกมาเร็วๆและทดสอบกับตลาดว่าสิ่งที่เราคิดกับความต้องการของตลาดนั้นสอดคล้องกันหรือไม่

ถ้าผลทดสอบออกมาดี = สร้างผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์ และเริ่มต้นทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มเล็กๆ

ถ้าผลทดสอบออกมาไม่ดี  = สร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ โดยอาจจะปรับ การเขียนการขาย, ฟีเจอร์ หรือกลุ่มเป้าหมาย

ในระหว่างการสร้างผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์ ฝั่งของธุรกิจต้องเริ่มวาง Business Canvas และคิด Business Model ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ออกมา

ผมขอแนะนำ 3 Business Model ที่เหมาะสำหรับสาย Software

1.Freemium ให้ทดลองใช้ฟรี และเก็บค่าบริการสำหรับการใช้งานในฟีเจอร์ที่ Advance เหมาะกับธุรกิจด้าน Software ที่ต้องให้ลูกค้าทดลองใช้ก่อน

2.Subscription ระบบสมาชิกรายเดือน/ปี ให้ลูกค้าชำระค่าบริการอย่างต่อเนื่อง (ผมชอบโมเดลนี้มากๆ อ่านทั้งหมดที่นี่)

3.Pay-as-you-go คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง อย่างเช่น แอปบริการแท็กซี่เรียกเก็บตามระยะทางที่ไป

ส่วนที่จะวัดว่าธุรกิจไปรอดหรือไม่?

สิ่งที่จะวัดว่าเราได้ไปต่อหรือไม่ คือ มีลูกค้ายอมจ่ายค่าบริการและรักในผลิตภัณฑ์ของเรามากกว่า 100 คนไหม? โดยคุณจะต้องลงทุนทำการตลาดเพื่อให้ได้ลูกค้ามาจำนวนหนึ่ง (มากกว่า 100 คน) และติดต่อเพื่อเก็บข้อมูลหลังการขายสำหรับการทำลิสลูกค้าที่รักในสินค้าของคุณ

หลังจากนั้นให้รวบรวมกลุ่มคนเหล่านั้น ในช่องทางที่สะดวกที่สุด โดยอาจจะเป็น Facebook group, Email List หรือ Line OA ก็ได้ เพื่อให้คุณสามารถสอบถามได้อย่างต่อเนื่องเมื่อออกฟีเจอร์ใหม่ ว่าพวกเค้ารู้สึกอย่างไรบ้าง

ถ้าธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ จะเปรียบเหมือนถังน้ำที่มีรอยรั่วขนาดใหญ่ ยิ่งเราเทลูกค้ามาจำนวนมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ ถ้าคุณอยู่ในจุดนี้ ไม่ต้องเสียใจไปครับ คุยกับลุกค้าของคุณเพื่อหาสาเหตุ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีมากพอ บริษัทที่ประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมด ล้วนผ่านจุดนี้มาด้วยกันทั้งนั้น

จุดที่ควรระวัง

การสร้างบริษัท Software นั้น มีสิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้ดี ผมขอแบ่งออกเป็น 3 อย่างด้วยกัน

1.คุณกำลังอยู่ในอุตสาหกรรมที่เร็วมากๆ และรายล้อมไปด้วยคู่แข่งที่เก่งสุดๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนจะมาทำในด้านนี้ คือ รูปแบบพฤติกรรม จะต้องเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ตลอดเวลา ทำงานหนัก และดึงดูดคนเก่งๆได้ เพราะนี่คือเรื่องธรรมดาของคนในสายงานนี้ ถ้าคุณไม่ใช่ นี่คือเกมส์ที่ไม่ควรมาเล่น เพราะเส้นทางนี้ต้องเดินทางยาวนาน (มากกว่า 5 ปี) กว่าจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ในทิศทางที่มุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จ

2.คนเก่งนั้นหายาก เพราะเป็นสายงานที่ร้อนแรงสุดๆ ทุกบริษัทนั้นแย่งตัวกันด้วยมูลค่าที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นนอกจากที่เรามีไอเดียที่ดี มีความเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องหาทีมเพื่อมาทำงานร่วมกันให้ได้ด้วย ส่วนตัวผมนั้นติดกับดักนี้มานานกว่า 2 ปี กว่าจะหาทีมมาสร้างผลิตภัณฑ์ได้

3.คู่แข่งที่เกรี้ยวกราด ช้าไม่ได้ พลาดไม่ได้ การแข่งขันสู้กันอย่างรวดเร็ว ถ้าพรุ่งนี้คู่แข่งคุณออกฟีเจอร์ใหม่ที่ดีกว่า บริษัทจะอยู่ในสถานะที่ล้าหลังทันที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคอยจับตามองอยู่ตลอด และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อไรที่ล้าหลัง นั่นคือการเสียภาพลักษณ์และส่วนแบ่งการตลาด

ถ้าสร้างเองมันเหนื่อยเป็นนักลงทุนก็ได้

ถ้าคุณเป็นคนมีเงินเย็นและชอบความเสี่ยงแบบลงเงินแล้วโตมากๆ หรือไม่ก็เจ๊งไปเลย สตาร์ทอัพเป็นหนึ่งทางเลือกที่ดี เพราะมีสตาร์ทอัพอีกจำนวนมากที่ต้องการเงินลงทุน โดยสิ่งที่ใช้เลือกในการลงทุนสตาร์ทอัพ นั้นสามารถดูด้วยกัน ดังนี้

1.ผู้ประกอบการ มีความสามารถมากน้อยแค่ไหน มีองค์ความรู้ในสิ่งที่ทำมาก่อนหรือไม่ และมีรูปแบบพฤติกรรมที่สอดคล้องต่อการทำสตาร์ทอัพ

2.ไอเดียนั้นมีตลาดรองรับใหญ่มากแค่ไหน และเป็น Solution ที่ดีกว่าคู่แข่งอย่างน้อย 10 เท่าหรือไม่ รวมถึงทีมสามารถทำไอเดียนี้ได้จริงใช่ไหม

สรุปทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์ด้าน Software  คือ อนาคตของบริษัทที่ต้องการเติบโต เพราะสามารถสเกลไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างทีมด้าน Technology ที่มีการแข่งขันสูงมากๆ ใครมีทีมที่ดีกว่า คือผู้ชนะเกมส์นี้ในระยะยาว

และการสร้างของที่คนอยากได้ (ไม่ใช่เจ้าของอยากได้) เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นจึงจำเป็นมากว่าเราต้องไปให้ถึงจุด Product Market Fit คอยหมั่นเช็คตัววัดผลหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอโดยปกติแล้วค่าเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ 2 ปี กว่าจะถึงจุดนี้ และอาจต้องผ่านการ Pivot (ปรับเปลี่ยนไอเดีย) มาหลายครั้งกว่าจะเจอจุดที่ใช่สำหรับลูกค้าจริงๆ

สำหรับใครที่กำลังสร้างหรือมีบริษัทด้าน Software แล้ว ต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม สามารถส่งเมลมาหาผมได้เลย ถ้าผมช่วยได้ ยินดีช่วยเต็มที่ครับ ต้องการให้มีผู้ประกอบการด้านนี้ในเมืองไทยเยอะมากขึ้นๆ

Happy Building

🏆